โมกหลวง
โมกหลวงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Holarrhena antidysenterica Wal. Ex A.DCอยู่ในวงศ์ apocynaceae มีชื่อตามท้องถิ่นต่างๆดังนี้ โมกใหญ่(กลาง) พุด(กาญจนบุรี) พุทธรักษา(เพชรบุรี) มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง(เหนือ) ยางพุด(เลย) หนามเนื้อ(เงี้ยว-พายัพ)
โมกหลวงเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร เปลือกเรียบ ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆตรงกันข้าม ใบมีรูปไข่ ปลายใบมนกว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว10-16 เซนติเมตร ผิวใบสีเขียวแกมเหลือง ด้านล่างมีขนนุ่ม
ดอกสีขาวเป็นช่อเล็กๆมีกลิ่นหอม ส่วนช่อดอกจะมีขน โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแผ่ออกเป็น 5 แฉก
ผลเป็นฝักออกเป็นสองฝักคู่ กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดจะแตกเป็นสองซีก ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร และมีขนสีนวลติดเป็นกระจุกที่ปลายเมล็ด ดังนั้นเมื่อแตกออกก็จะปลิวตามลมเป็นจำนวนมาก
ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาคือ เปลือกต้น ซึ่งเปลือกที่มีคุณภาพดีต้องเก็บจากต้นที่มีอายุ 8-12 ปี และต้องไม่มีเนื้อไม้ติดมา โดยเปลือกจะมีแอลคาลอยด์หลายชนิดคือโคเนสไซน์ เคอร์ไชน์ , เคอร์ชิไชน์ และอื่นๆ ซึ่งถ้าท่านผู้มอ่านมีอาการท้องเสียแบบบิดก็สามารถจะใช้เปลือกโมกหลวงเพื่อดูแลตนเองเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ได้โดยการนำเปลือกต้นโมก-หลวงมาครึ่งกำมือ(6-10 กรัม) ผสมกับผลมะตูมแห้งอย่างละเท่าๆกัน รวมกับเปลือก รากทับทิมอีกครึ่งส่วน ตำให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอนรับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) หรือต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง เมื่อรับประทานแล้วอาการดีขึ้นให้รับประทานต่อจนกว่าจะหาย แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ใกล้บ้าน
จาก หนังสือชีวจิตทางเลือกใหม่สำหรับสุขภาพ
โดย พ.ญ ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์
เด็กหญิงรัตนากร เบญจพล ชั้นม.1/3 เลขที่ 43 |