ดาวหาง
คลิกเพื่อเพิ่มข้อความ
ดาวหางไฮอาคุตาเกะ (Hyakutake) ถูกพบเป็นครั้งแรกในคืนวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชื่อ Yuli Hyakutake โดยเขาได้ใช้กล้องสองตาส่องเห็นดาวหางดวงนี้ขณะมันปรากฎอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง
เมื่อแรกพบ หัว (Coma) ของไฮอาคุตาเกะมีขนาดเล็กมาก และส่วนหางก็ยังไม่ปรากฏเนื่องจากดาวหางอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก แต่เมื่อดาวหางโคจรที่เคลื่อนลึกเข้ามา ในสุริยจักรวาล กลุ่มก๊าซที่บริเวณหัวของดาวหาง ได้เพิ่มขนาดขึ้น และหางของดาวก็ปรากฏชัดขึ้น
ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่ดาวหางไฮอาคุตาเกะ จะปรากฎให้เราเห็นค่อนข้างสั้น แต่นักดาราศาสตร์ก็สามารถคำนวณได้ว่า วงโคจรของมันเป็นวงรีที่มีขนาดใหญ่มาก ในอดีตเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อนนี้ไฮอาคุตาเกะ ได้เคยโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ชาวโลกก็ได้เห็นดาวหางดวงนี้ ด้วยตาเปล่าอีกครั้งหนึ่ง
การปรากฏตัวของมันในครั้งนี้ปรากฏว่า มันมีหางสีน้ำเงิน ยาวยืดถึง 1 ล้านกิโลเมตร พาดผ่านหนึ่งในสามของท้องฟ้า ไฮอาคุตาเกะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ที่ระยะห่างเพียง 34.5 ล้านกิโลเมตร และมีความเร็วสูงถึง 320,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ดาวหางที่เราเห็นทุกดวงเป็นดาวบริวารในสุริยจักรวาล มีแกนที่เป็นใจกลางหัวคือนิวเคลียส (nucleus) ซึ่งประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่นที่อัดตัวแน่น เวลาดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งบนดาวระเหิดเป็นไอปกคลุมส่วนหัว เมื่อเป็นเช่นนี้ หัวดาวหางจึงปรากฏมีขนาดใหญ่ สำหรับไฮอาคุตาเกะเองมีหัวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 16 กิโลเมตร และส่วนที่เป็นหางนั้น เกิดจากผงฝุ่นของดาวที่ถูกลมสุริยะ ซึ่งเป็นอนุภาคเล็กๆ จากดวงอาทิตย์พุ่งชนและผลัก ทำให้เราเห็นเป็นหางยาว
ถึงแม้ว่าไฮอาคุตาเกะ จะพุ่งหนีจากโลกไปแล้วก็ตาม แต่มันก็ได้ทิ้งปัญหาให้นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ต้องขบคิดหลายประการ
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ ด้วยกล้องโทรทรรศน์ทั้งจากบนดินและในอวกาศ แสดงให้เห็นว่าน้ำแข็งบนดางหางดวงนี้ มีอุณหภูมิต่ำกว่าน้ำแข็งบนดาวหางดวงอื่นๆ และที่น่าประหลาดใจมากที่สุดคือ ไฮอาคุตาเกะเป็นดาวหางดวงแรก ที่ถูกพบว่าเปล่งรังสีเอ็กซ์ นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังพบว่า ดาวดวงนี้มีความสว่างที่สูงกว่าความสว่าง ที่ทฤษฏีได้คาดหวังถึง 100 เท่า ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตยังแสดงให้เห็นอีกว่า หางของไฮอาคุตาเกะมีก๊าซ methane และ ethane มาก ซึ่งก๊าซทั้งสองชนิดนี้นักดาราศาสตร์ ไม่เคยตรวจพบบนดาวหางดวงใดมาก่อนเลย
ตามปกติแล้ว นักวิทยาศาสตร์มักจะถือว่างานวิเคราะห์ส่วนประกอบ ของดาวหางเป็นงานยาก เพราะนอกจากดาวหางจะมีขนาดเล็กแล้ว มันยังอยู่ไกลและมีอุณหภูมิต่ำด้วย คุณสมบัติประการหลังนี้ทำให้รังสีต่างๆ ที่เปล่งออกมาจากดาวหางส่วนใหญ่เป็นรังสีอินฟราเรด ซึ่งรังสีชนิดนี้มิสามารถจะทะลุผ่านชั้นบรรยากาศ ของโลกถึงกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนดินได้ เพราะมันจะถูกไอน้ำในบรรยากาศดูดซับไปหมด ดังนั้นการศึกษาดาวหางจึงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ ที่กำลังลอยอยู่ในอวกาศศึกษาแทน


แหล่งอ้างอิง : http;//www.school.net.th/library/snet3/dr_sutat/hyakutakhtm

โดย : เด็กหญิง สุภาวดี สุภาพิชัย, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 12 กันยายน 2546