ดวงจันทร์
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ กาลิเลโอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เขาสร้างขึ้นส่องสังเกตดวงจันทร์ เขาคิดว่าบริเวณที่เป็นสีคล้ำของดวงจันทร์ที่เห็นในกล้องโทรทรรศน์ของเขานั้นคือ ทะเลสาบ ดังเราจะเห็นว่ามีชื่อของทะเลมากมายบนดวงจันทร์ อย่างเช่นทะเลแห่งความเงียบสงบ ทะเลแห่งฝน มหาสมุทรแห่งพายุ ฯลฯ แม้ว่านักดาราศาสตร์ได้ทราบมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของยุคอวกาศแล้วว่าสถานที่เหล่านั้นเป็นเพียงที่ราบต่ำที่เคยถูกลาวาเอ่อท่วมเท่านั้น แต่ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่ยังคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องของน้ำบนดวงจันทร์อยู่ เพราะถ้าสามารถสกัดน้ำได้บนดวงจันทร์ ก็หมายความว่าในการเดินทางไปดวงจันทร์เพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ ไม่ต้องพกน้ำไปมากมาย ซึ่งจะประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงไปได้อย่างมาก อีกทั้งความฝันที่จะอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ก็จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น

แต่โครงการอะพอลโลก็ได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าดวงจันทร์นั้น แห้งสนิท จากตัวอย่างหินที่นำกลับมายังโลกทั้งหมดล้วนแต่ไม่ให้ความหวังใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะพบสนิมบนหินที่มากับอะพอลโล ๑๖ แต่ก็เชื่อว่าเป็นสนิมที่เกิดขึ้นหลังจากที่นำกลับมายังโลกแล้ว มิได้เกิดบนดวงจันทร์


ความหวังมิใช่จะมอดหมดไปเสียทีเดียว ทุกโครงการที่ไปสำรวจดวงจันทร์ล้วนแต่สำรวจบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากเส้นศูนย์สูตรทั้งนั้น แทบจะไม่มีโครงการใดไปสำรวจที่บริเวณขั้วทั้งสองของดวงจันทร์เลย ที่ขั้วของดวงจันทร์นี้แหละที่จะมีน้ำอยู่ ความคิดนี้เริ่มต้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ โจฮันน์ แมดเลอร์ เขาอธิบายว่า ดวงจันทร์นั้นหมุนรอบตัวเองเทียบกับดวงอาทิตย์นั้นนาน ๒๙.๕ วัน ดังนั้นบริเวณส่วนใหญ่ของดวงจันทร์จะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ เป็นเวลา ๑๔.๗๕ วัน ย่อมไม่แปลกที่จะไม่มีความชื้นหลงเหลืออยู่ แต่ดวงจันทร์มีแกนเอียงเพียง ๑.๕ องศาเมื่อเทียบกับระนาบของระบบสุริยะ ดังนั้นบริเวณที่เป็นหุบเหวต่าง ๆ ใกล้ขั้วดวงจันทร์ จะไม่มีโอกาสถูกแสงอาทิตย์เลย เป็นดินแดนที่ตกอยู่ในความมืดมิดและเย็นยะเยือกตลอดกาล จึงเป็นไปได้ที่ไอน้ำจะสามารถสะสมทีละเล็กทีละน้อยจนเป็นผืนน้ำแข็งที่นี่และจะคงอยู่ได้นานนับล้านปี

ที่มา : http://thaiastro.nectec.or.th/library/lunarlak.html
[ถัดไป>>] 

โดย : นาย a b, บ้าน, วันที่ 5 กันยายน 2546