พิธีทอดกฐิน
 

ความหมายของคำว่า กฐิน

คำว่า กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบตัดจีวร ในสมัยก่อนการตัดเย็บจีวรเป็นเรื่องใหญ่ ทำยากเพราะไม่มีเครื่องทุ่นแรง เช่น จักรเย็บผ้าและไม่มีร้านขายจีวรสำเร็จรูป พระภิกษุจึงต้องตัดเย็บจีวรกันเอง โดยช่วยกันหลายๆรูปและใช้ไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าขึงกะตัด เย็บ และใช้ไม้สะดึงช่วยในการตัดเย็บจีวร สะดวกแก่ผู้ไม่ชำนาญในการตัดเย็บ และเย็บต่อกันให้เข้าเป็นรูปจีวร สมัยนี้ช่างเย็บจีวรมีความชำนาญในการกะผ้าและตัดเย็บ ไม่ต้องอาศัยไม้สะดึง แต่ชื่อผ้าชนิดนี้ก็ยังเรียกผ้ากฐินอยู่ตามเดิม

คำว่า “กฐิน”ตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 คือ “ผ้าที่ถวายพระที่จำพรรษาแล้ว

การทอดกฐิน ก็คือการนำผ้ากฐินไปวางต่อหน้าสงฆ์ ซึ่งมีอย่างน้อยจำนวน 5 รูป โดยไม่เจาะจงว่าจะถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

การทอดกฐินมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ แรรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 มีกำหนด 1 เดือน ภายหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว จะทอดก่อนหรือหลังกำหนดนี้ไม่ได้

เหตุผลที่มีการกำหนดการทอดกฐินขึ้นนี้มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในพระเชตุวันวนาราม ซึ่งเป็นอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธานิวาส

มีภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ 30 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงธุดงค์ทั้งสิ้นคืออรัญญิกธุดงค์(ถือการอยู่ป่า) บิณฑปฏิกธุดงค์(ถือการเที่ยวบิณฑบาต)ปังกุสุลิกธุดงค์(นุ่งห่มผ้าบังสุกุล)และเตจีวริกธุดงค์(ใช้จีวร3ผืน) จะพากันมาสู่เมืองสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา

เมื่อเดินทางรอนแรมมานั้นก็ใกล้จะถึงฤดูเข้าพรรษาแล้ว ครั้นจะเดินทางมาเข้าพรรษา ณ เมืองสาวัตถีก็ไม่ทันจึงพากันเข้าพรรษาที่เมืองสาเกต ซึ่งมีระยะห่างจากเมืองสาวัตถี 6 โยชน์ เมื่อออกพรรษาจึงรีบมาเฝ้า ต้องฝ่าฝนลุยโคลนมา

สมเด็จพระศาสดาได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ และการเดินทาง ภิกษุทั้ง 30 รูป ได้กราบทูลตั้งแต่ต้นจนจบ

สมเด็จพระศาสดาได้ทรงปรารภถึงเหตุที่ภิกษุเหล่านี้ออกพรรษาาเร่งมาเฝ้าทั้งที่จีวรเปียกน้ำฝนและต้องลุยน้ำโคลน พระองค์จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับผ้ากฐินในระยะภายหลังจากออกพรรษาแล้วอีกหนึ่งเดือน จึงถือเป็นประเพณีจนมาถึงทุกวันนี้

ต่อมามีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้นเป็นต้นว่า ผ้าถวายกฐินไม่เพียงพอแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ไม่รู้ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับกฐิน จึงเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อจะผ่อนผันหาความสะดวกในพระธรรมวินัยจึงได้มีพระบรวพุทธานุญาต ให้ภิกษุอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ที่ที่จีวรเก่าแก่กว่าเพื่อนและเป็นผู้ฉลาดในพระธรรมวินัยเป็นผู้รับกฐิน และเป็นผู้กรานกฐิน และให้ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสเดียวกันนั้นอนุโมทนากฐิน ซึ่งนับว่าเป็นผู้ได้อานิสงส์ ตามพุทธดำรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราตถาคตอนุญาตเพื่อจะกรานกฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วอานิสงส์5ประการจะสำเร็จแก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้วนั้น

อานิสงส์ 5 ประการคือ

1. อนามน. ตจาโร เที่ยวไปในละแวกบ้านโดยไม่ต้องอาบัติด้วยจารีตสิกขาบท

2. สมาทานจาโร เที่ยวไปโดยไม่ต้องเอาจีวรไปครบก็ได้ โดยไม่ต้องอาบัติด้วยทุติยกฐิน

สิกขาบท

3. คณโภชนํ ฉันคณะโภชนะโดยไม่ต้องอาบัติด้วยคณะโภชนะ และปรัมปรโภชนะทั้ง 2

สิกขาบท

  1. ยาวทัต.ถจีรวํ เก็บอดิเรกจีวรไว้โดยที่ยังมิได้วิกับป์และอธิฐานโดยไม่ต้องอาบัติด้วยปฐมกฐินสิกขาบท
  2. โย จ ตต.ถ จีวรป.ปาโท โส เนสํ ภวส.สติ จีวรลาภอันใดที่เกิดขึ้นในอาวาสนั้น จีวรลาภอันนั้นจะเป็นของภิกษุทั้งหลายผู้ได้รับกฐินแล้ว

เมื่อสมเด็จพระตถาคต ได้ทรงอนุญาตกฐินนัตถาวิธี คือวิธีกฐินของอานิสงส์ผู้ได้กรานกฐินนี้ฉะนี้แล้ว

พระองค์ทรงแสดงวิธีกรานกฐินเป็นลำดับต่อไปว่า การกรานกฐินต้องทำอย่างนี้ คือให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ ผู้มีกำลังพอ ประกาศให้สงฆ์ทราบในการที่จะมอบหมายผ้ากฐินนั้นให้เป็นสิทธิแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อจะได้กรานกฐิน ด้วยทุติยกรรมวาจาว่า สุนาตุ เม ภน.เต สง.โฆ เป็นอาทิดังนี้ ก็เป็นกฐินนัตถารวินัยกรรมนั้น ภิกษุทั้งหลายต้องทำให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตทุกประการ จึงนับว่าเป็นกฐินนัตถารกิจ

คำถวายผ้ากฐินหลวง

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง

สะปะริวารัง กะฐินะ ทุสสัง ปะฏิคคันหาตุ ปะฏิคะเหตวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ

อัมหากัง ทีฆะระตัง หิตายะ สุขายะ

แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐิน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับซึ่งผ้ากฐิน กับทั้งผ้าบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ

คำถวายผ้ากฐินอีกแบบหนึ่ง

อิมัง สะปะริวานัง กฐินะจีวะ ระทุสสะ สังฆัสสะ โอโนชยามะ (ว่า 3 หน)

แปลว่า ข้าพระเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระสงฆ์

เมื่อจบคำถวายนี้แล้วพระสงฆ์จะรับพร้อมกันว่าสาธุ แล้วผู้เป็นเจ้าภาพหรือผู้เป็นประธานในการทอดกฐินนั้นก็เข้าไปเอาผ้าไตรกฐินประเคนภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ หรือจะไม่ประเคนเอาไปวางไว้เฉยๆก็ได้ แล้วต่อจากนั้นก็จัดการถวายเครื่องบริขารต่างๆ ตามที่ได้ตระเตรียมมา ต่อจานั้น พระสงฆ์ก็ได้จัดมอบผ้าไตรกฐินนั้น ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ลงความเห็นแล้วว่าเป็นผู้สมควารได้รับผ้านั้น เมื่อท่านทำพิธีกรานกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็จะได้อนุโมทนาต่อไป

การทำบุญกฐินจึงมีอานิสงส์หลายอย่าง เป็นการจรรโลงพระศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไป ผู้ที่ได้ทำบุญก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้ำจุนพระศาสนาผู้ที่ได้รับคือพระภิกษุสงฆืได้อาศัยปัจจัยสี่เป็นการดำรงขึ้นให้มีติดอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม เพื่อสั่งสอนธรรมแก่ชาวโลกเป็นการสืบศาสนาให้ถาวร ซึ่งชาวพุทธควรจะปฏิบัติพิธีอันดีงามนี้ให้ถาวรสืบไป ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีเมื่อถึงฤดูกาลนี้ก็มีชาวพุทธเลื่อมใสศรัทธา ในการทอดกฐินกันทุกปี ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



แหล่งอ้างอิง : สมชัย ใจดี ยรรยง ศรีวิริยาภรณ์ ,ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ,สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์

โดย : นาง มาลัย จินดาศรี, บ้านขามเปี้ย, วันที่ 18 กรกฎาคม 2545