องค์ประกอบของศาสนา5
5. สัญญลักษณ์หรือพิธีกรรม
ในศาสนาแต่ละศาสนาย่อมมีเครื่องหมายแตกต่างกันไป โดยใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรมแทนสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือความหมายอันละเอียดลึกซึ้งโดยผ่นทางพิธีกรรมบ้าง ศิลปกรรมที่แสดงเป็นปฎิมากรรมบ้างสลักฝาผนังบ้างเมื่อพบสัญญลักษณ์เหล่านี้ทำให้เข้าใจทันทีว่านั้นเป็นเรื่องของศาสนานั้น ๆ เช่น พบธรรมจักรหรือพิธีทอดกฐินหรือการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ทราบทันทีว่านี่คือสัญญลักษณ์ในพุทธศาสนา หรือพบไม้กางเขนก็เข้าใจทันทีว่านั่นคือเครื่องหมายในศาสนาคริสต์ ดังนั้น พิธีกรรมในฐานะเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับศาสนาซึ่งอาจจะเป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติเป็นส่วนบุคคล เช่น สวดมนต์หรือพิธีกรรมส่วนรวม เช่น การทำพิธีอุปสมบทและการบูชาในโบสถ์ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย พิธีกรรมเป็นสัญญลักษณ์ศาสนาเพราะเป็นกรอบสำหรับถนอมรักษาศาสนธรรมและเป็นเครื่องเสริมศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์กับความจริงในศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเครื่องหมายแสดงออกของศาสนาที่เห็นชัดเจนที่สุดเป็นรูปธรรมแบ่งออกได้หลายประเภทตามหลักการของศาสนานั้น ๆ เช่นด้านปฏิมากรรมสถาปัตยกรรมและจิตกรรมเป็นต้น
พิธีกรรมเป็นทางนำไปสู่การบรรลุสัจธรรมในแต่ละศาสนาเริ่มจากพิธีกรรมการปฏิญาณตนเป็นศาสนิกชนคือการปฏิญาณตนนับถือศาสดาหรือคำสอนของศาสดานั้น ๆ เช่น พิธีบูชามิสซาพิธีศีลล้างบาป พิธีละมาด พิธีบูชาวิญญาณหรือพิธีพุทธมามกะ เป็นประกาศวาจาว่าตนขอนับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งที่เคารพสูงสุดของตนเป็นต้นพอชิธีกรรมมีเริ่มตั้งแต่พระศาสดาทรงพระชนม์ชีพเป็นพิธีกรรมรับสมาชิกเข้าสู่สังคม เช่นพิธีการบวชหรือการบรรพชา อุปสมบท ในพระพุทธศาสนาเป็นการประกาศและรับรองการเข้าสู่สังคมสงฆ์ตามเงื่อนไขและกติกาของสังคมนั้น ๆ ทุกศาสนาจะต้องมีพิธีกรรมเป็นของตนเองซึ่งเป็นเครื่องหมายหรือสัญญลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามอุดมคติของแต่ละศาสนา
พิธีกรรมในฐานะกิจกรรมทางโลกมีความหมายเป็นจุดนัดพบ และเป็นจุดนัดหมายโดยเฉพาะสำหรับชุมชนหรือในหมู่ชนนั้น ๆ ให้มองเห็นความสำคัญที่จะเริ่มการใด ๆ กันอย่างจริงจัง เพราะการกระทำที่สำคัญของชุมชนหรือของส่วนรวมก็ต้องมีพิธีกรรม เช่น ในการประชุมการเล่นกีฬา หรือแม้แต่งานสังสรรค์ต่าง ๆ ของส่วนรวมล้วนแต่เป็นเรื่องพิธีกรรม ถ้าเกี่ยวกับศาสนาเรียกว่าศาสนพิธี

ความสำคัญของพิธีกรรม

พิธีกรรมทุกอย่างมีความสำคัญต่อจิตใจ มีความศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจมากมากสามารถสะกดให้ผู้อยู่ในพิธีกรรมทุกคนสงบเงียบหยุดกิจกรรมอื่น ๆ หันมาสนใจทำสิ่งเดียวกันอย่างเอาจริงเอาจังทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อมที่จะทำเรื่องนั้น พิธีกรรมอาจเริ่มจากคนสองคน สามคน คือ คนสองคนสามคนทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างพร้อมเพรียงกันอาจจะชักจูงให้คนจำนวนร้อยจำนวนพันทำตามไปได้ในระยะะแรกอาจจะทำตามเพียงสักแต่ว่าทำโดยเสียไม่ได้แต่ถ้าทำหลายครั้งหลายหนทำนาน ๆ ไปจิตใจจะพลอยโน้มน้อมตามไปด้วย ดังนั้นพิธีกรรมจึงมีคุณค่าหลายประการ คือ
1. เป็นเครื่องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในศาสนาเทวนิยมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ในศาสนาอเทวนิยมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือผู้ปฏิบัติกับพระธรรม ในส่วนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับจุดมุ่งหมายสูงสุดของกิจกรรมนั้น ๆ
2. เป็นเครื่องสร้างศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมหรือการปฏิบัติในพิธีกรรมในลักษณะต่าง ๆ เช่น กิริยาอาการ คือ การประนมไหว้การสวดมนต์เสียงดังน่าเกรงขาม การร่ายรำและการแสดงท่าทางอันขึงขังหรืออ่อนช้อย รวมทั้งการใช้สัญญลักษณ์ อุปกรณ์ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียนในลักษณะเป็นสีต่างกันจัดเป็นคู่ ๆ ให้สวยงาม ธูปเทียนที่ใหญ่หรือยาวเป็นพิเศษรวมทั้งเครื่องเซ่นบูชาในพิธีกรรม ย่อมกระตุ้นจิตใจให้เกิดความน่าเชื่อ น่าเกรงขามหรือน่าเลื่อมใสได้ ทำให้ผู้อยู่ในพิธีมีอาการสำรวม ตั้งจิตแน่วแน่รวมกันเป็นเอกภาพมุ่งตรงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป้าหมาย พิธีกรรมจึงเป็นรูปแบบที่สื่อธรรมะสำหรับคนหมู่ใหญ่ได้โดยอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องนำทาง
3. เป็นเครื่องชักจูง ดึงดูดอารมณ์ ทำให้เกิดความสบายใจ เอบอิ่มใจ ปรารถนาที่จะรักษารูปแบบเนื้อหา และอุดมคติของพิธีกรรมนั้น ๆ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์แก่นของศาสนาและข้อปฏิบัติทางจริยธรรมไว้ได้ โดยอาศัยความศักดิ์สิทธิ์และความเลื่อมใสเป็นเครื่องสื่อเพราะผู้ปฏิบัติ
ศาสนาจะเข้าสู่อุดมคติของศาสนาได้โดยอาศัยศรัทธาในพิธีกรรมเป็นขั้นแรกคือระดับพิธีกรรมซึ่งเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาผู้ปฏิบัติให้เลื่อมใสพอใจเข้าถึงพระธรรมขั้นสูงขึ้นไปได้

องค์ประกอบของพิธีกรรม

การกระทำที่ถือว่าเป็นพิธีกรรมย่อมมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
1. การกระทำที่มีความสำคัญต่อจิตใจ คือเป็นการกระทำที่สัมพันธ์กับความจริงที่จิตใจสัมผัสได้ซึ่งเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติโดยมุ่งสร้างอารมณ์ที่ผดุงจิตใจ ให้เกิดความสบายใจ กำลังใจความมั่นใจเป็นผลตามมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิตใจอยู่เหนือวัตถุและร่างกายภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจและเมื่อได้กระทำพิธีกรรมแล้วเกิดความสบายใจ
2. การใช้สัญญลักษณ์ในการจัดทำพิธีกรรมแบบต่าง ๆ จะต้องมีอุปกรณ์เช่น ดอกไม้ ธูปเทียนหรือเครื่องเซ่นต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่สิ่งไม่มีชีวิต มีสัตว์และคนเป็นต้น ตลอดจนกิริยาท่าทาง เช่น การร่ายรำ การประนมมือ การไหว้ กิริยาขึงขัง การกระทืบเท้า และถ้อยคำหรือบทสวดต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นสัญญลักษณ์บอกให้ทราบถึงความรู้สึกคาระวะและความตั้งใจแน่วแน่ที่จะจัดทำสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกระบวนการแห่งพิธีกรรมนั้น ๆ อันบ่มถึงมโนภาพจินตนาการ เป้าหมายที่ชัดเจน พลังจิตอารมณ์ในความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์ประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ



ที่มา : เดือน คำดี ; ศาสนศาสตร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสร์, 2541

โดย : นางสาว พรวิจิตร ชาติชำนาญ, คอนสารวิทยาคม, วันที่ 19 มิถุนายน 2545