ตักบาตรดอกไม้


ประเพณีการตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณี
ประจำท้องถิ่นของ อำเภอพระพุทธบาท
จังหวัดสระบุรีที่สืบทอดและยึดถือปฏิบัติกันมา
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สืบเนื่องจากในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
ดอกไม้ป่าตระกูลขิง กระเจียวและถั่วแปบช้าง
จะพากันผลิดอกบานสะพรั่งไปทั้งป่า ดอกไม้เหล่านี้
เรียกกันว่า " ดอกเข้าพรรษา "
ดอกเข้าพรรษามีหลายชนิดและหลายสี
ถ้ามิใช่ฤดูกาลนี้ ก็จะไม่ผลิดอกออกมาให้เห็น
สีของดอกไม้เหล่านี้มักจะเป็นสีเหลืองและสีขาว
บางทีก็มีสีม่วง แต่สีม่วงออกจะหายากกว่าสีอื่น
ในวันเข้าพรรษา เมื่อกลับจากการทำบุญ
ในช่วงเช้าแล้ว บรรดาหนุ่มสาวจะพากันออกไป
เก็บดอกไม้เพื่อไว้ใส่บาตรในช่วงบ่าย
เมื่อถึงเวลาตักบาตรดอกไม้ พุทธศาสนิกชน
จะมารวมกลุ่มกันอยู่ข้างทางทั้งสองฟากถนน
พระภิกษุ สามเณรจะออกไปบิณฑบาต
ตามถนนสายต่างๆ ก่อนจะเวียนกลับมายัง
บันไดนาค แล้วนำดอกไม้ไปนมัสการพระพุทธบาท
ในมณฑป ระหว่างที่พระภิกษุและสามเณร
เดินขึ้นมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนได้นำน้ำสะอาด
มาล้างเท้าให้เพราะถือเป็นการชำระจิตใจ
และชำระบาปไปด้วยในตัว จากนั้นพระภิกษุสงฆ์
จะนำดอกไม้ไปสักการะเจดีย์จุฬามณีและสักการะ
พระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ตามลำดับ
ระหว่างทางที่พระภิกษุสงฆ์ออก
บิณฑบาตดอกไม้นั้น จะมีการแสดง
ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านโดยจะเน้นที่ความสนุก
มีการจัดขบวนรถบุปผชาติอันงดงามมาร่วมขบวน
จากประเพณีดังกล่าวทำให้
อาจารย์บุษบงกช ถาวรเกษตร ครู
โรงเรียนวัดพระพุทธบาท ตำบลขุนโขลน
อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
โดยการนำของผู้อำนวยการบุญสม สายหยุด
ได้ริเริ่มสร้างสรรค์การแสดงพื้นบ้านชื่อ
" ระบำดอกเข้าพรรษา "ขึ้นโดยนำเพลงกลองยาว
มาเป็นหลักทำให้เสียงเร้าใจท่าเต้นก็คึกคัก
ซึ่งอาจารย์ก็เต็มใจถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจ
อย่างแพร่หลาย
ทุกวันเข้าพรรษา ดอกไม้จะบานสะพรั่ง
ในแนวป่าและขุนเขาที่อำเภอพระพุทธบาท
จังหวัดสระบุรี เพื่อพุทธศาสนิกชนจะได้
สืบทอดศรัทธาและประเพณี "ตักบาตรดอกไม้ "
ต่อไปตลอดกาล

หนังสืออ้างอิง
จิตกร บุษบา. " ตักบาตรดอกไม้ จาก...
ลมหายใจพื้นถิ่นถึง....ร่มศาสนา , "
วัฏจักรรายวัน, ๑๖ ,๓๘๒๗
( ๒๐ ก.ค.๔๐ ) กระแสชีวิต ๑-๓



โดย : นางสาว Laddaporn ngamthura, klonglong, วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545