นิทานธรรมะ

นิทานธรรมะ

 

นิทานธรรมมะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอนเกี่ยวกับการระงับเวร ดังจะเล่าโดยย่อต่อไป ดังนี้

พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีในรัฐกาสี ได้เสด็จยกกรีธาทัพไปย่ำยีพระเจ้าทีฆีติแห่งแคว้นโกศลพระเจ้าทีฆีติทรงประมาณกำลังเห็นว่าต่อสู้ไม่ได้จึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจาก พระนครปลอมพระองค์เป็นปริพาชก(ชีปะขาว)ไปทรงอาศัยอยู่ในบ้านของนายช่างหม้อที่ชานเมืองพาราณสีซึ่งเป็นนครของราชศัตรูฝ่าย พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงยกทัพเข้าครอบครองแคว้นโกศลต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติทรงพระครรภ์และเกิดอาการแพ้พระครรภ์ด้วย ทรงอยากทอดพระเนตรกองทัพ ประกอบด้วยองค์ 4 คือ กองช้าง กองม้า กองรถ และ กองราบในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และ ทรงอยากดื่มน้ำล้างพระขรรค์จึงกราบทูล พระราชสวามี พระเจ้าทีฆีติพระราชสวามี ได้ทรงตรัสห้าม พระนางก็ตรัสยืนยันว่า ถ้าไม่ทรงได้ ก็จักสิ้นพระชนม์


ครั้งนั้นพราหมณ์ปุโลหิตของพระเจ้าพรหมทัต เป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติ พระเจ้าทีฆีติจึงเสด็จไปหาและตรัสเล่าความให้ฟังฝ่ายพราหมณ์ปุโลหิต ก็ไปขอเฝ้าพระเทวีมเหสีของพระเจ้าทีฆีติก่อน พระเจ้าทีฆีติ ทรงนำไปยังบ้านที่พักอาศัยพราหมณ์ปุโรหิต ได้ เห็นพระมเหสีของพระเจ้าพระเจ้าทีฆีติ เสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็ยกมือพนมนอบน้อมไปทางพระนาง พร้อมเปล่งวาจาขึ้นว่า "พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระครรภ์" แล้วกล่าวรับรองจะจัดการให้พระนางทอดพระเนตรเห็น กองทัพทั้งสี่เหล่าและได้ดื่มน้ำล้าง พระขรรค์

พราหมณ์ปุโรหิตจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตกราบทูลว่าได้เห็นนิมตบางอย่างขอให้ทรงจัดกองทัพสี่เหล่าให้ยกออกตั้งขบวน ในสนามเวลารุ่งอรุณวันพรุ่งนี้และให้ล้างพระขรรค์ พระเจ้าพรหมทัตทรงอำนวยตาม

พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติจึงได้ทอดพระเนตรกองทัพและได้ดื่มน้ำล้างพระขรรค์สมอาการที่ทรงแพ้พระครรภ์ ต่อมาได้ประสูติ พระโอรส ตั้งพระนามว่า ทีฆาวุ เมื่อทีฆาวุกุมารเติบโตขึ้นพระเจ้าทีฆีติ ทรงส่งออกไปให้ศึกษาศิลปศาสตร์อยู่ ภายนอกพระนคร เพราะทรงเกรงว่า ถ้าพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ ก็จักปลงพระชนม์เสียทั้ง 3 พระองค์

ต่อมานายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติซึ่งมาอาศัยอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าพรหมทัตได้เห็นพระเจ้าทีฆีติที่ชานพระนครจึงไปเฝ้ากราบทูล พระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าทีฆีติ พร้อมทั้งพระมเหสี มาแล้วรับสั่ง ให้พันธนาการ ให้โกนพระเศียรให้นำตระเวน ไปตามถนนต่างๆทั่วพระนครแล้ว ให้นำออก ไปภายนอกพระนคร ให้ตัดพระองค์ออกเป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศ พวกเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติตามพระราชบัญชา

ในขณะที่เขานำ พระเจ้าทีฆีติกับพระมเหสีตระเวนไปรอบพระนครนั้น ทีฆาวุกุมาร ได้ระลึกถึงพระราชบิดามารดา จึงเสด็จเข้ามา เพื่อที่จะเยี่ยมเยียนก็ได้ เห็นพระราชบิดามารดากำลังถูกพันธนาการ เขากำลังนำตระเวนไปอยู่จึงตรงเข้าไปหาฝ่าย พระเจ้าทีฆีติ ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสกำลังมาแต่ไกลก็ตรัสขึ้นว่า


" พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นยาว อย่าเห็นสั้น พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่ผูกเวร "

พอพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ยินพระดำรัสนั้นก็พากันกล่าวว่าพระเจ้าทีฆีติเสียพระสติรับสั่งเพ้อไปพระเจ้าทีฆีติก็ตรัสว่าพระองค์มิได้เสียสติ ผู้ที่เป็น วิญญูจักเข้าใจ แล้วกได้ตรัสซ้ำๆ ความอย่างนั้นถึง 3 ครั้ง เมื่อพวกเจ้าหน้าที่ตระเวนแล้ว ก็นำออกไปนอกพระนคร ตัดพระองค์ออกเป็นสี่ท่อน ทิ้งไว้สี่ทิศแล้วตั้งกองรักษา

ทีฆาวุกุมารได้นำสุราไปเลี้ยงพวกกองรักษาจนเมาฟุบหลับหมดแล้ว ก็เก็บพระศพของพระบิดามารดารวมกันเข้า ถวายพระเพลิง เสร็จแล้วก็เข้าป่าไป ทรงกันแสงคร่ำครวญจนเพียงพอแล้วก็เข้าสู่กรุงพาราณสี ไปสู่โรงช้างหลวงฝากพระองค์เป็นศิษย์นายหัตถาจารย์

ในเวลาใกล้รุ่ง ทีฆาวุกุมารมักตื่นบรรทมขึ้น ทรงขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะและดีดพิณ พระเจ้าพรหมทัต ได้ทรงสดับเสียง รับสั่งถามทรงทราบแล้วตรัส ให้หาทีฆาวุกุมารเข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารก็โปรดให้เป็นมหาดเล็กในพระองค์ ทีฆาวุ กุมารได้ตั้งหทัยปฏิบัติ พระเจ้าพรหมทัต เป็นที่โปรดปราณมากในไม่ช้าก็ได้รับการแต่งตั้ง ให้อยู่ประจำในตำแหน่งเป็นที่ วางพระราชหฤทัย

ในวันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตเสด็จทรงรถออกไปทรงล่าเนื้อทีฆาวุกุมาร เป็นนายสารถีรถพระที่นั่ง ได้นำรถพระที่นั่งแยกทางไป จากพวกทหารรักษาพระองค์ ครั้นไปไกลมากแล้ว พระเจ้าพรหมทัตทรงเหน็ดเหนื่อย มีพระราชประสงค์จะบรรทมพักจึงโปรด ให้หยุดรถ แล้วทรงบรรทมหนุนบนเพลา(หน้าตัก) ของทีฆาวุกุมาร ครู่เดียวก็บรรทมหลับ ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดถึงเวรขึ้นว่า "พระเจ้าพรหมทัตนี้ได้ทรงประกอบกรรม ก่อความเดือดร้อน ให้เป็นอันมากจนถึง ปลงพระชนม์ พระราชบิดามารดาของตน บัดนี้ถึงเวลา จะสิ้นเวรกันเสียที" จึงชักพระขรรค์ขึ้นจากฝักในขณะนั้น ดำรัสของพระราชบิดาก็ผุดขึ้นในหทัย ของทีฆาวุกุมาร เตือนให้คิดว่า ไม่ควรละเมิดคำของ พระราชบิดา จึงสอดพระขรรค์เข้าฝัก ครั้นแล้วความคิดที่เป็นเวร ก็ผุดขึ้นใหม่เป็น ครั้งที่ 2 ทีฆาวุกุมารก็ชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก แต่เมื่อระลึกถึงพระดำรัสของพระราชบิดา ก็สอดพระขรรค์เก็บอีก ในครั้งที่ 3 ก็เหมือนกัน ทีฆาวุกุมารชัก พระขรรค์ขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจเวรจิต แล้วก็สอดพระขรรค์ เก็บด้วยอำนาจดำรัส ของพระราชบิดา

ในขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัต ทรงสะดุ้งเสด็จลุกขึ้นโดยฉับพลัน มีพระอาการตกพระทัยกลัวทีฆาวุกุมาร จึงกราบบังคมทูลถาม จึงรับสั่งเล่าว่า ทรงพระสุบินเห็น ทีฆาวุกุมารโอรส พระเจ้าทีฆีติแทงพระองค์ ให้ล้มด้วยพระขรรค์ ทันใดนั้นทีฆาวุกุมารก็จับ พระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตด้วย พระหัตถ์ซ้าย ชักพระขรรค์ออกด้วยพระหัตถ์ขวา ทูลว่า "เรานี่แหละ คือทีฆาวุกุมารโอรส ของพระเจ้าทีฆีติซึ่งพระองค์ ได้ทำความทุกข์ยากให้เป็นอย่างมาก จนถึงปลงพระชนม์พระราชบิดามารดา ของเรา บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะทำให้สิ้นเวรกันเสียที" พระเจ้าพรหมทัต จึงหมอบลงขอชีวิต ทีฆาวุกุมารจึงตรัสว่า "ข้าพระองค์อาจจะ ถวายชีวิตแก่พระองค์ได้อย่างไร พระองค์นั้นเองพึงประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์" พระเจ้าพรหมทัต ก็ตรัสว่า "พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่เราและเราก็ให้ชีวิตแก่เจ้า"พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารทั้งสอง จึงต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน ต่างก็ได้ทำการสบถสาบาน ว่าจะไม่คิดทรยศต่อกัน ครั้นแล้วพระเจ้าพรหมทัตกได้เสด็จขึ้นประทับรถทีฆาวุกุมาร ก็ขับรถมาบรรจบพบกองทหารแล้ว เข้าสู่พระนครพระเจ้าพรหมทัต รับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ตรัสถามว่า ถ้าพบทีฆาวุกุมารโอรส พระเจ้าทีฆีติจะพึงทำอย่างไร อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่าให้ตัดมือตัดเท้าตัดหูตัดจมูกบ้างให้ตัดศรีษะบ้าง พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสว่า " ผู้นี้แหละคือ ทีฆาวุกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติแต่ใครจะทำอะไรไม่ได้เพราะว่ากุมารนี้ให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ให้ชีวิตแก่กุมารนี้แล้ว " แล้วทรงหันไปตรัสขอให้ทีฆาวุกุมาร อธิบายพระดำรัสของพระราชบิดาในเวลาที่จะสิ้นพระชนม์ ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลอธิบายว่า" คำว่าอย่าเห็นยาว คือ อย่าได้ทำเวรให้ยาว คำว่าอย่าเห็นสั้น คือ อย่าด่วนแตกกับมิตร คำว่าเวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร คือ ถ้าข้าพระองค์คิดว่าพระองค์ทรงปลงพระชนม์พระราชบิดามารดา ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย พวกคนที่จงรักภักดีต่อพระองค์ก็จะพึงปลงชีวิต ของข้าพระองค์ส่วนพวกที่ชอบข้าพระองค์ ก็จะพึงปลงชีวิตพวกคนเหล่านั้น เวรจึงไม่ระงับลงได้ด้วยเวรอย่างนี้ แต่ว่าบัดนี้พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็ได้ถวายชีวิตแก่พระองค์แล้ว ดังนั้นเวรนั้นจึงเป็นอันระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร"

พระเจ้าพรหมทัตตรัสสรรเสริญแล้วพระราชทานคืนราชสมบัติของพระเจ้าทีฆีติ และได้ประทานพระราชธิดาแก่ทีฆาวุกุมาร

เรื่องนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำฉันท์ไว้เรียกว่า ทีฆาวุคำฉันท์

นิทานเรื่องระงับเวรที่เล่านี้เป็นเรื่องโบราณ ยังมีนิทานเรื่องระงับเวรในระยะเวลาใกล้ๆนี้ คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่น เดินทัพผ่านประเทศไทย จับฝรั่งมาเป็นเชลย กำหนดให้ทำงานต่าง ๆ คนไทยก็พากันสงสารเชลยฝรั่ง และแสดงเมตตาจิตสงเคราะห์ จนเห็นพวกชาวบ้านหาบคอนผลไม้ไปคอยให้พากันช่วยเหลือเจือจานต่างๆไม่ได้ถือว่าเป็นคู่เวรคู่ศัตรครั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม กลับเป็นเชลยคนไทยก็กลับสงสารญี่ปุ่นอำนาจเมตตาจิตของคนไทยส่วนรวมนี้เชื่อกันว่าเป็นเครื่องผูกมิตรในจิตใจ ของทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่นซึ่งได้ช่วยประเทศไทย ไว้อย่างมากมายถ้าคนไทยมีนิสัยผูกเวรมากกว่าผูกมิตรแล้ว เหตุการณ์ก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนี้

" สญญมโต เวรํ น จียติ = ผู้ระมัดระวังอยู่ ย่อมไม่ก่อเวร "

 



แหล่งอ้างอิง : www.google.co.th

โดย : เด็กหญิง วิราศิณี พาสูงเนิน, ร.รสูงเนิน, วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547