นักการศึกษาในกลุ่มรังสรรคนิยม (constructivism) ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการสร้างปัญญาไว้ดังนี้
1. สถานการณ์ที่เป็นปัญหาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา
2. ความขัดแย้งทางปัญญาเป็นแรงจูงใจภายในให้เกิดกิจกรรมไตร่ตรองเพื่อขจัดความขัดแย้งนั้น
3. การไตร่ตรองบนฐานแห่งประสบการณ์ และโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม ภายใต้การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกระตุ้นให้มีการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญาที่สามารถขจัดความขัดแย้งนั้น
โครงสร้างใหม่ทางปัญญา (ความรู้ใหม่) จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างเดิมเมื่อเผชิญกับ ปัญหาใหม่ต่อไป
ความขัดแย้งทางปัญญา (Cognitive conflict) หมายถึงสภาวะอสมดุลย์ (disequilibrium) อันเกิดจากการเผชิญกับความไม่สอดคล้องกันในความคิด ความเชื่อบางอย่างที่ยึดถืออยู่ ความไม่สอดคล้องกันของข้อมูล ความไม่สมเหตุสมผล สภาวะที่ตัดสินใจไม่ได้ หรือสภาวะที่โครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่ไม่สามารถแก้สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ บุคคลที่อยู่ในสภาวะเช่นนี้จะเกิดแรงขับที่เป็นความอยากรู้อยากเห็น (curiousity) ซึ่งเป็นแรงจูงใจภายใน ให้บุคคลค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนองแรงขับนั้น
กิจกรรมไตร่ตรอง (Reflective activities) เป็นกิจกรรมของการตรวจสอบและขจัดความขัดแย้งทางปัญญาระหว่างบุคคล ภายในตนเอง และระหว่างความเชื่อกับการประจักษ์
Dewey กล่าวถึงการเกิดความรู้ในปรัชญาปฏิบัตินิยม โดย แบ่งประสบการณ์ออกเป็นสองประเภท คือ ประสบการณ์แบบไร้ปัญญา กับประสบการณ์แบบปัญญา
ประสบการณ์แบบไร้ปัญญาในชีวิตของแต่ละบุคคลมีมากมาย ซึ่งยังไม่จัดว่าเป็น "ความรู้" ของบุคคลนั้น ประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการไตร่ตรอง (reflection) แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นประสบการณ์แบบปัญญา หรือ "ความรู้" ซึ่งผู้รู้สามารถอธิบายให้ตนเองและผู้อื่นยอมรับได้อย่างสมเหตุสมผลทั้งในเชิงเหตุผลและเชิงประจักษ์
โครงสร้างทางปัญญา (Cognitive Structure) เป็นความรู้ที่อยู่ในระดับนัยทั่วไป ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเฉพาะ แบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ มโนทัศน์ และกระบวนการ มีคำที่ใช้เรียกหลายคำ เช่น scheme, schema, structure, frame และ script บุคคลที่เรียนรู้ในระดับโครงสร้าง จะสามารถนำโครงสร้างเดิมไปใช้ในกรณีเฉพาะใหม่อื่น ๆ ได้มากมาย และเป็นฐานในการสร้างโครงสร้างใหม่ (ความรู้ใหม่) ด้วย
|