เวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร(2)

 

ข้อความที่ไพเราะจากมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร

ให้ภาพและความรู้สึกชัดเจน

“พอพระสุริยงเธอเยื้องรถบทจรเย็นยอแสงสั่งทวีป ฝูงธิชากรก็ร่อนรีบเข้ารังเรียง ได้ยินเสียงผีป่าโป่งโป้งเปิ่งกู่ก้องร้องกระหึ่ม ผีผิวพึมฟังขนพอง เสียงชะนีร้องอยู่โหวยโวยโว่ยวิเวกวะหวามอก”

ให้ข้อคิด

“อนึ่งก็เป็นคำโบราณท่านย่อมว่า ว่าช้าๆ จะได้พร้าสองเล่มงาม ด่วนได้ด้วยสามพลามมักพลิกแพลงมาตุคาโม ธรรมดาว่าสตรีนี้เป็นเกาะแก่งกีดกระแสกุศล มีมัจฉริยะมืดมนคือตัวมาร ยามเมื่อสามีจะทำทานมักทำลาย ด้วยแยบคายคอยค้อนติงเข้าทักท้วงให้ทอดทิ้งเสียศรัทธาผล”

ให้ภาพที่ตรงกันข้าม

“ดูกรมัทรี เป็เหตุทั้งนี้ด้วยนางกษัตริย์ เคยเสวยไอศูรยสมบัติอันอุดม เจ้าเคยสถิตบรรทมเหนือแท่นทอง พระยี่ภู่อ่อนละอองสำอางองค์ ยามเมื่อเจ้าจะทรงเสวยล้วนแต่เครื่องสุวรรณภาชน์ ยามเมื่อเจ้าเยื้องยุรยาตรก็มิได้อย่างลงเหยียบดินกระเดื่องใด บัดนี้เจ้ามาตกเข็ญใจไร้นิราศปราศจากที่อันเจริญออกมาโศกศัลย์แสนกันดาร เดินในดงดอนต้องแดดลม เสวยแต่ผลไม้อันเปรี้ยวขมเฝื่อนฝาด บรรทมเหนือใบไม้ลาดล้วนละอองทราย เทพเจ้าย่อมยักย้ายซึ่งราศี ธาตุทั้งสี่จึงวิปริต

มีการเปรียบเทียบ

“ปางนั้นสมเด็จพระมหาสัตว์ เสด็จออกนั่งหน้าพระอาศรมบท งามปรากฏดุจรูปทองทั้งแท่งอันบุคคลแกล้งหล่อแล้วมาตั้งไว้ จินเตสิ มีน้ำพระทัยรำพึงหายากจะมารับพระราชทาน สุราโสณโฑ ปิ้มปานประหนึ่งว่านักเลงสุราบานคอยหาเจ้าเหล้า

ให้ภาพชัดเจนและมีการเล่นสัมผัสอักษร

“พระคุณเจาเอ๋ยอันว่าแม่น้ำทั้งห้าห้วงกระแสสายชลขลา ไหลมาจากห้วงคงคาเป็นห้าแถวนองไปด้วยน้ำแนวเต็มติรติรานามชื่อว่า คงคา ยมุนา อจีรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ จึ่งแตกเป็นนอเทศกุนทีน้อยๆ ประมาณห้าร้อยโดยสังขยา ปูโร ไหลหลั่งถั่งมาล้นลบกระทบกระทั่ง ฟากฝั่งฟุ้งเป็นฝอยฝน บ้างก็เป็นวังวนวุ้งชะวากเวิ้ง บ้างก็เป็นกระพักกระเพิงกระพังพุ บ้างก็เป็นดะดุดะดั้นกระเด็นดาษดั่งดาวแก้ว ตามทางแถวแนวท่อธาร ไหลสะๆ ซ่านสะเซาะโซม เสียงระๆ ระโรมโครมครื้นครั่นพิลึกลั่นบันลือหือฤๅหรรษ์ บ้างก็เลี้ยวลัดดัดดั้นชลาไหล บ่าไปสู่บ่อบึงบางน้อยใหญ่นับเอนกอนันต์ เป็นคลื่นหมื่นมหันต์ไหไหลฟุ้งซ่านสุดที่จะพรรณนา”

มีการเปรียบเทียบ

“มีน้ำพระทัยชื่นบานเอิบอาบด้วยกุศลลาภอันเลิศฟ้าอุปมาเหมือนบุรุษอันยากไร้มีผู้นำทรัพย์มานับให้พันตำลึงถึงมือแล้วเมื่อใด น้ำพระทัยท้าวเธอก็ปราโมทย์เหมือนฉะนั้น”

ให้ภาพชัดเจนและมีการเปรียบเทียบ

“พระพักตร์สองกุมารเผือดผัน พระกายสั่นระรัวริกดั่งตีปลา พระชาลีจึ่งกระซิบบอกแก้วกัณหาว่า กัณหาเอ่ยเจ้าค่อยย่อง ครั้งเหยียบต้องใบไม้ไหวกริบ เจ้าขยิบตาให้แก้วกัณหาหมอบ ครั้นเหยียบต้องใบไม้ไหวกรอบ เจ้าก็พากันหมอบอยู่แน่นิ่ง”

ให้ภาพชัดเจนและมีการเปรียบเทียบ

“อัศจรรย์ก็บันดาลบังเกิดมี อย มหาปฐวี อันว่าภาคพื้นพระธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ เสียงอุโฆษครื้นครั่นดั่งไฟบรรลัยกัลป์จะผลาญโลกให้ทำลายวายวินาศ ฝูงสัตว์จตุบททวิบาทก็ตื่นเต้าเผ่นโผนโจนดิ้น ประหนึ่งว่าปัถพินจะพลิกคว่ำพลำแพลงให้พลิกหงาย อกนางพระธรณีจะแยะแยกแตกกระจายอยู่รอนๆ สะเทื้อนสะท้านเลื่อนลั่นอยู่ครืนๆ ดุจหนึ่งว่าปืนสักแสนนัดมากระหน่ำซ้ำยิงอยู่เปรี้ยงๆ เสียงฉะฉาดฉาน ทั้งพญาคชสารชาติฉัททันต์ทะลึ่งถลันร้องแหวๆ ประแปร๋แปร้นแล่นทะลวงงวงคว้างาหงายเงย ประหนึ่งว่าจะสอยเสยเอาดวงดาว เหี้ยมห้าวกระหึ่มตกมันอยู่ฮัดๆ ดั่งว่าใครมายุแยงแกล้งผัดพานเดือดทะยายอยู่ฮักฮึก สะอึกเข้าไล่แทงเงาอยู่ผลุงผลัง ไม่ไล่พังผะผางโผงล้มพินาศ ทั้งพญาพาฬมฤคราชเสือโคร่งคระครางครึ้มกระหึ่มเสียง สำเนียงก้องร้องปะเปิ๊บปิ๊บถีบทะยานย่องแยกเขี้ยวเคี้ยวฟันตัวสั่นอยู่ริกๆ ประหนึ่งว่าจะถาโถมโจมจิกจับเอาสัตว์ในไพรวันมาคาบคั้นกินเสียคำเดียวเป็นภักษา”

ให้ภาพชัดเจน

“พญานาคฤทธิรณเลิกพังพานสลอนลอยอยู่ไปมาทั้งพญาครุฑราชปักษาก็โผผินบินขึ้นเวหนเล่นลมบนอยู่ลิบลิ่ว เมฆหมอกปลิวอยู่เกลื่อนกลาด บนอากาศก็วิกลเป็นหมอกกลุ้ม อัมพรชรอุ่มอับอลวนอลเวง เสียงคระโครมเครงครื้นครั่น ฟ้าฝนสวรรค์ก็เฟื่องอุ้งเป็นฟองฝอย เมขลาเหาะลอยล่อแก้วอยู่แวววับ รามสูรขยับขยิกขยี้ แสงสายมณีแวบวาบวาวสว่าง อสูรก็ขว้างขวานประหารอยู่เปรี้ยงๆ เสียงสนั่นลั่นโลกวิจลจลาจล”

ให้ข้อคิด

“ดูกรแก้วกัณหาเอ่ย พี่ได้ยินเนื้อความท่านเล่าสืบกันมา ว่ากำพร้าสองประการสืบสันดานโดยประเพณี พรา เอกจจิยา กุมารกุมารีใดไร้นิราศปราศจากพ่อยังแต่แม่ผู้เดียว ก็พอแลพอเหลียวชื่อว่าอยู่พร้อมทั้งบิดาและมารกา ทารกา ทารกผู้ใดไร้นิราศปราศจากแม่ยังแต่พ่อเพียงผู้เดียว ก็เปล่าเปลี่ยวได้ชื่อว่าสูญสิ้นทั้งบิดาและมารดา ถึงจะประโลมเลี้ยงรักษาก็ไม่ถึงใจ ถึงจะได้ทุกข์ภัยสักร้อยสิ่ง อันบิดาแล้วก็นิ่งได้ไม่นำพา อันคุณของพระมารดาท่านพรรณนาได้ว่าเป็นที่ยิ่ง สจจํ คำที่ว่ามานั้นก็จริงสมอยู่แล้วนะพระน้องแก้วกัณหา”

มีการเปรียบเทียบ

“เสมือนหนึ่งพรานเบ็ดมาตีปลาที่หน้าไซ บรรดาปลาจะเข้าไปให้แตกฉาน ตัวเราผู้ทำทานเหมือนตัวปลา พระโพธิญาณในภายหน้านั้นคือไซ ปรารถนาจะเข้าไปจึ่งยกพระลูกให้เป็นทานบารมี พระลูกรักทั้งสองศรีดั่งกระแสสินธุ์ พราหมณ์ประมาทหมิ่นมาด่าตี เสมือนกระทุ่มวารีให้ปลาตื่น

ให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์

“โส โพธิสตโต ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ ตรัสได้ทรงฟังพระสุรเสียงแก้วกัณหา เสียวพระสกลกายาเย็นระย่อ เศร้าสลดระท้อพระหฤทัยเธอถอยหลัง พระนาสิกอึดตั้งอัสสาสปัสสาสน้ำพระเนตรเธอไหลหยาดหยดเป็นสายเลือด ไม้เว้นวายหายเหือดซึ่งโศกา”


ที่มา : วรรณสารวิจักษณ์ เล่ม 3 กรมวิชาการ

โดย : นาง ศิริพันธ์ พัฒรชนม์, โรงเรียนราชวินิต มัธยม, วันที่ 9 กันยายน 2545