แนวทางการศึกษานิทานพื้นบ้าน |
แนวทางการศึกษานิทานพื้นบ้าน
โดย จุไรพร ผาทอง
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เยาวชนควรสนใจศึกษาค้นคว้านิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นของตนเพื่อที่จะทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ของคนพื้นบ้าน ทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และมีการพัฒนาด้านจิตพิสัยดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมของคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่งให้มีความงอกงามต่อเนื่องกันไป ซึ่งหมายถึงว่าเราได้ร่วมศึกษา อนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่นิทานพื้นบ้าน อันเป็นมรดกสำคัญของสำคัญให้ดำรงอยู่ต่อไป
นิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่มีการถ่ายทอดด้วยการบอกเล่าด้วยวาจา เรียกว่า วรรณกรรม
มุขปาฐะ และมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า วรรณกรรมลายลักษณ์ ข้อมูลทั้งสองประเภทยังคงมีการรักษาไว้ด้วยการจดจำ และด้วยการเก็บรักษาในรูปแบบของหนังสือ ผู้ที่เป็น
เจ้าของนิทานพื้นบ้านซึ่งได้ถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้น ให้แก่ผู้ที่ศึกษาเราเรียกว่า วิทยากร ( วิทยากร เป็น คำสมาสในภาษาสันสกฤตและบาลี มาจากคำว่า วิทยา = ความรู้ และ คำว่า กร = ผู้ทำ หมายถึง ผู้ทำความรู้ หรือผู้ทรงความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาของตน ) การที่เราจะศึกษานิทานพื้นบ้านจึงต้องอาศัยข้อมูลจากวิทยากรท้องถิ่น เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำข้อมูลมาศึกษาอย่างเป็นขั้นตอน
การเก็บรวบรวมข้อมูลนิทานพื้นบ้าน
ข้อมูลนิทานพื้นบ้านแบ่งเป็น ๒ ประเภท ตามแหล่งที่มาของข้อมูล คือ
๑ ) ข้อมูลชั้นต้น ( ข้อมูลปฐมภูมิ ) เป็นข้อมูลที่ผู้ศึกษาเก็บข้อมูลจากชาวบ้านโดยตรง อาจเก็บโดยการสัมภาษณ์ การสังเกต การให้ตอบแบบสอบถามซึ่งผู้เก็บข้อมูลอาจบันทึกข้อมูลไปพร้อม ๆ กับการสัมภาษณ์ หรืออาจบันทึกข้อมูลโดยใช้เครื่องบันทึกเสียงก่อนแล้วจึงถ่ายทอดเป็นตัวอักษรในภายหลัง
๒ ) ข้อมูลชั้นรอง ( ข้อมูลทุติยภูมิ ) เป็นข้อมูลที่ได้จากหนังสือต่างๆ ที่ผู้จัดทำหนังสือได้รวบรวมข้อมูลมาจากชาวบ้านไว้แล้ว ข้อมูลชั้นรองนี้มักผ่านการปรับปรุง แก้ไข ต่อเติม หรือเรียบเรียงแล้ว เช่น ตำนานพระธาตุช่อแฮ ( ฉบับพิมพ์ของพระธาตุช่อแฮ ) ตำนานถ้ำผานางคอย
ซึ่งแต่งเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดย นายชลอ ธรรมศิริ อดีตนายอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นต้น
การเก็บรวบรวมข้อมูลนิทานพื้นบ้าน ผู้ศึกษาสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งข้อมูลชั้นต้นและข้อมูลชั้นรอง แต่เนื่องจากข้อมูลชั้นต้นเป็นข้อมูลที่ผู้รวบรวมข้อมูลต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะ และใช้เวลาพอควร จึงได้เน้นกล่าวในที่นี้เพื่อเป็นแนวชี้ชัดเจนในการศึกษา
ค้นคว้าต่อไป
คุณสมบัติของผู้รวบรวมนิทานพื้นบ้านชั้นต้น
ผู้รวบรวมข้อมูลพึงตระหนักอยู่เสมอว่าการรวบรวมข้อมูลนิทานพื้นบ้าน ถือเป็นกิจกรรมที่มีเกียรติ น่าภูมิใจ และน่าชื่นชมยินดี ทั้งนี้เพราะการรวบรวมข้อมูลนิทานพื้นบ้านเป็นการแสดงออกถึงการเริ่มต้นศึกษา และอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านอับเป็นการสืบทอดมรดกไทยที่อนุชนคนไทยพึงให้ความสำคัญ ดังนั้นการรวมรวมขั้อมูลนิทานจึงต้องอาศัยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับภาระกิจอันสำคัญ คือ ผู้มีคุณสมบัติดังนี้
๑ ) เป็นผู้ใฝ่รู้รักในการแสวงหาความรู้ มีความกระตือรือร้นในการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ
๒ ) มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดหาวิธีการที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล สามารถดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ รู้จักคิดค้นหากระบวนการแก้ปัญหาที่ตนเองประสบ
๓ ) เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพในความคิดเห็น และเคารพในวิถีชีวิตของชุมชน ไม่แสดงอาการรังเกียจเดียดฉัน ไม่แสดงอาการดูถูกเหยียดหยามวิทยากร พึงยึดถือเสมอว่า วิทยากร คือ ครูของเรา ฉะนั้นผู้รวบรวมข้อมูลจึงแสดงความเคารพด้วยการไหว้หรืดกราบตามสมควรแก่กรณี และควรรู้จักกล่าวขอความอนุเคราะห์ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ และกล่าวคำขอบคุณเมื่อเสร็จสิ้นการรวบรวมข้อมูลในแต่ละครั้ง ในบางกรณีผู้รวบรวมข้อมูลอาจจัดของกำนัลให้แก่วิทยากรตามธรรมเนียมที่เหมาะสม
๔ ) เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ผู้รวบรวมข้อมูลจะต้องมีความเป็นกลางไม่บิดเบือนแก้ไขข้อมูลด้วยอคติ ไม่แอบอ้างหรือสร้างข้อมูลเท็จ ควรเก็บข้อมูลให้ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาและอาจได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางต่อไป
๕ ) เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้รวบรวมข้อมูลควรผ่านการฝึกอบรมหรือได้รับฟังการชี้แจงจากอาจารย์หรือผู้รู้ เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลจนเข้าใจได้ดี มีความรู้ในด้านภาษาไทยถิ่นที่จะใช้สื่อสารกับวิทยากรเป็นอย่างดี สามารถจดบันทึกข้อมูลและใช้เครื่องบันทึกเสียงได้ดี
การเลือกวิทยากรเล่านิทานพื้นบ้าน
การรวบรวมข้อมูลเล่านิทานพื้นบ้านนั้นนักเรียน หรือผู้รวบรวมข้อมูลสามารถเลือกวิทยากรได้ดังนี้
๑ ) เป็นคนในครอบครัวของผู้รวบรวมข้อมูล เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด วิทยากรในข้อนี้นับว่าเป็นวิทยาที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ที่รวบรวมข้อมูลมากที่สุด ข้อมูลนิทานบางเรื่องผู้รวบรวมอาจเคยได้ยินจากคำบอกเล่าจากวิทยากรมาแล้ว เมื่อรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก็ควรวางแผนให้มีการเล่านิทานที่ผู้รวบรวมข้อมูลสามารถบันทึกข้อมูลได้ครบถ้วน และการ
เล่านิทานควรเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ
๒ ) เป็นญาติหรือคนคุ้นเคยในหมู่บ้าน วิทยากรในข้อนี้ผู้รวบรวมข้อมูลอาศัยความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น
๓ ) เป็นผู้รู้ในหมู่บ้าน วิทยากรประเภทนี้มักมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในสังคมชนบท เช่น พระสงฆ์ มัคนายก ผู้ผ่านการบวชเรียนระยะยาวมาแล้ว หรืออาจเป็นนักเล่านิทานที่เป็นที่ยอมรับ
ในหมู่บ้าน วิทยากรประเภทนี้มักมีประสบการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านมามาก สามารถถ่ายทอดความรู้มาเป็นอย่างดี
๔ ) บุคคลทั่วไปในท้องถิ่น ซึ่งควรเป็นผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ชีวิตในท้องถิ่นมายาวนาน หรือควรเป็นคนที่อาศัยในท้องถิ่นมาแต่กำเนิด วิทยากรตามข้อนี้มีกระจายอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ผู้รวบรวมข้อมูลควรเลือกข้อมูลจากวิทยากรทั้งเพศหญิงและชาย และเลือกเก็บข้อมูลจากวิทยากรหลาย ๆ คน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย
(ยังมีต่อ)
|
โดย : นาง จุไรพร ผาทอง, โรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่, วันที่ 26 พฤษภาคม 2545 |