วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทวรรณกรรมลายลักษณ์ของจังหวัดแพร่ :
การแนะนำแหล่งศึกษาค้นคว้าเบื้องต้น
จังหวัดแพร่เคยเป็นเมืองโบราณที่สำคัญเมืองหนึ่งของล้านนา ปัจจุบันจังหวัดแพร่ยังคงปรากฎมีวรรณกรรมอันเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของชาวเมืองแพร่ชั้นชนต่าง ๆ ในอดีต ทั้งวรรณกรรมที่บอกเล่าสืบทอดต่อกันมาด้วยวาจาหรือที่เรียกว่า วรรณกรรมมุขปาฐะ และวรรณกรรมที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยภาษาไทยถิ่นและภาษาบาลี โดยใช้อักษรที่นิยมใช้ในท้องถิ่น เรียกว่า วรรณกรรมลายลักษณ์ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้รับรู้ถึงความคิดและภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังของวรรณกรรม การศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่ จึงช่วยให้เข้าใจภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนเมืองแพร่ได้เป็นอย่างดี
ในที่นี้ผู้เขียนได้มุ่งแนะนำถึงแหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทวรรณกรรมลายลักษณ์ไว้พอสังเขปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ เช่น นิทาน สำนวน คำพังเพย สุภาษิต ปริศนาคำทาย เพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบการเล่น
เพลงพื้นบ้าน ฯลฯ ก็สามารถรวบรวมข้อมูลได้จากวิทยากรในหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตจังหวัดแพร่ซึ่งต้องใช้ความพยายามพอสมควร
วรรณกรรมลายลักษณ์ของจังหวัดแพร่นั้น ปรากฎหลักฐานตกทอดมาเป็นจำนวนไม่น้อยจึงเป็นที่ยอมรับของบรรดาผู้ที่สนใจทางด้านวรรณกรรมท้องถิ่นว่าจังหวัดแพร่เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทลายลักษณ์แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะที่หอธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นแหล่งเก็บรักษาวรรณกรรมและคัมภีร์พระไตรปิฎกล้ำค่า ซึ่งบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นส่วนใหญ่ วรรณกรรมที่วัดสูงเม่นจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสำคัญยิ่งเเห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้วัดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นับเป็นแหล่งอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าแก่ของชนชั้นสูงของเมืองแพร่ในอดีต ที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และจารึกวิทยาที่ล้ำค่ายิ่ง
รูปแบบของวรรณกรรมลายลักษณ์ในจังหวัดแพร่นั้นเป็นวรรณกรรมบันทึกไว้บนวัสดุประเภทต่าง ๆ เช่น ศิลา แผ่นไม้ ฐานพระพุทธรูป ใบลาน พับสา งาช้าง โดยเฉพาะอักษรฝักขามอักษรธรรมล้านนา ( ตัวเมือง ) อักษรขอม และบางส่วนเป็นวรรณกรรมที่บันทึกด้วย อักษรพม่า และอักษรมอญ
แหล่งศึกษาและค้นคว้าข้อมูลวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทวรรรรกรรมลายลักษณ์ส่วนใหญ่คือ
หอธรรม และ หีดธรรม หรือตู้พระไตรปิฎกตามวัดต่าง ๆ เช่น ที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
วัดศรีชุม วัดเหมืองหม้อ วัดจอมสวรรค์ วัดหลวง วัดพระหลวง และวัดสูงเม่น เป็นต้น ในที่นี้
ผู้เขียนขอแนะนำแหล่งศึกษาและค้นคว้าวรรณกรรมลายลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดแพร่แห่งหนึ่งคือ ที่ วัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เพื่อเป็นแนวทางการสำรวจและ ค้นคว้าทางภาษาและวัฒนธรรมเบื้องต้น
วัดหลวงเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ ซึ่งได้เก็บรักษาวรรณกรรมท้องถิ่นประเภท
วรรณกรรมลายลักษณ์อักษรไว้ในหอธรรม มีคัมภีร์โบราณจำนวนถึง ๕,๐๐๐ เล่ม และที่อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ก็ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่น และเก็บรักษาศิลาจารึก และจารึกฐานพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก วรรณกรรมที่วัดหลวงอาจจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
วรรณกรรมพิธีกรรม วรรณกรรมประเภทนี้มักปรากฏในรูปแบบของจารึก เช่น จารึกฐาน พระพุทธรูปพระมิ่งเมือง ( พ.ศ. ๒๐๓๙ ) , ศิลาจารึกวัดบุพาราม ( พ.ศ. ๒๐๗๒ ), จารึกฐานพระพุทธรูปพระเจ้าแสนทอง ( พ.ศ. ๒๐๕๗ ) , ศิลาจารึกหลวงมหาราช ( พ.ศ.๒๔๑๖ ) , จารึกฐานพระพุทธรูปไม้แกะสลัก ( พุทธศตวรรษที่ ๒๕ )
วรรณกรรมตำนาน เช่น ตำนาน ๑๕ ราชวงศ์ ( พื้นเมืองเชียงใหม่ ) , ตำนานเมืองเชียงใหม่,
ตำนานพระยาอินทร์ , ตำนานพระธาตุเจดีย์ ฯลฯ
วรรณกรรมกฎหมาย เช่น กฎหมายลักษณะพิจารณาใหม่
วรรณกรรมตำรา เช่น ตำราฤกษ์ยาม ตำรายา
วรรณกรรมคำสอน เช่น วรรณกรรมสุภาษิต วรรณกรรมในนอก
วรรณกรรมชาดก เช่น สุวรรณเห็นคำ สุวรรณเต่าคำ กำพร้าบัวตอง ช้างฉทันต์
วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด เช่น คำเรียกขวัญข้าว คำเรียกขวัญช้างพรปีใหม่ ฯลฯ
เท่าที่กล่าวมาคงพอจะเป็นแนวทางที่ทำให้มองเห็นแหล่งสำรวจค้นคว้า ตลอดทั้งเนื้อหาสาระอย่างกว้าง ๆ ของวรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ
และมุ่งแสวงหาคลังทางภูมิปัญญาอันเปี่ยมค่าทางภาษาและวัฒนธรรมของจังหวัดแพร่ต่อไป
**************
เอกสารอ้างอิง
โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา คู่มือการใช้บัตรข้อมูลคัมภีร์ใบลาน
ปั๊บสา สมุดข่อย และเอกสารโบราณอื่น ๆ , ๒๕๓๑. ( อัดสำเนา )
ประวัติ วัดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ . ม.ป.ท., ม.ป.ป.
การสัมภาษณ์
ธรรมานุรักษ์ , พระครู . เจ้าอาวาส วัดสูงเม่น ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ,
สัมภาษณ์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๙ .
วิจิตรธรรมาภรณ์ , พระครู , เจ้าอาวาส วัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
สัมภาษณ์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๘ .
|