เรียนอ่อน ไม่เหมือนเรียนอ่อนลง



ในยุคนิยมวัตถุขณะนี้ นอกจากคนเราจะวัดกันตรงที่อยู่บ้านราคาเท่าไหร่ ขับรถยี่ห้ออะไร ทำงานได้เงินเดือนแค่ไหนแล้ว ยังวัดกันอีกว่าลูกเรียนอยู่โรงเรียนอะไร แล้วก็เรียนเก่งแค่ไหนด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีลูกเรียนเก่ง นอกจากจะทำให้พ่อแม่ใจคอเบิกบานแล้ว ยังหน้าบานอีกต่างหากเวลาคุยกับใคร ๆ เรื่องลูก สรุปว่า ถ้ามีลูกเรียนดีก็เป็นเกียรติเป็นศรีกับพ่อแม่ว่างั้นเถอะ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกเรียนไม่เก่งพ่อแม่มักกังวลใจ บางทียังรู้สึกเสียหน้าอีกด้วยเวลามีคนถามถึงการเรียนของลูก ทั้ง ๆ ที่ใจหนึ่งก็ยอมรับความจริงว่าการเรียนดีไม่ใช่เครื่องประกันความสำเร็จในชีวิตเสมอไป และลูกที่เรียนไม่เก่งก็ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีหรือมีคุณธรรมน้ำจิตน้ำใจด้อยกว่าลูกที่เรียนเก่งซะเมื่อไหร่
เด็กที่เรียนไม่เก่ง หมายถึงเด็กที่สอบไม่ได้คะแนนดี แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ฉลาด เพราะถ้าตรวจสอบในรายละเอียดมักพบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ความถนัดและไม่สนใจในบางวิชา เช่นไม่ชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภาษา ซึ่งมีหน่วยกิตมาก แต่ไปชอบวิชาพลานามัยหรือเกษตรซึ่งหน่วยกิตน้อยกว่า ดังนั้น ถึงจะทำคะแนนในวิชาที่ชอบได้ดี แต่เมื่อรวมกันแล้วคะแนนก็ด้อยลงเป็นธรรมดา ส่วนเด็กบางคนไม่ชอบเรียนวิชาการเอาเลย สนใจแต่กิจกรรมมากซึ่งทำให้ได้คะแนนสอบไม่ดีแต่มีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมดี เข้ากับคนง่าย ชอบช่วยเหลือผู้อื่น พูดเก่ง อนาคตอาจเป็นนักการเมืองที่ดี แถมถ้าได้เป็นรัฐมนตรีก็ไม่รวบงานไว้ทำคนเดียว หรือทำตัวเป็น “เกาเหลา” ไม่กินเส้นกับใครด้วย
การดูแลเด็กไม่เก่งจึงควรเป็นการประคับประคองให้สามารถผ่านวิชาต่าง ๆ ที่ลูกไม่ถนัด แล้วส่งเสริมเพิ่มพูนความสามารถและทักษะในวิชาหรือกิจกรรมที่ชอบ ซึ่งอาจทำให้ลูกเป็นเลิศในสาขาเฉพาะทางนั้น ๆ ในอนาคตก็ได้ หรือต่อให้ลูกของคุณไม่มีความถนัดทางวิชาการใด ๆเลย แต่คุณได้ดูแลลูกด้วยความรักความอบอุ่น และอบรมให้เป็นคนดีมีศีลธรรม มีน้ำใจ เจ้าลูกเรียนไม่เอาไหนคนนี้ แม้ไม่เป็นเกียรติเป็นศรีแก่คุณ ก็จะไม่ทอดทิ้งพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่าให้นั่งเหงาหรือคุยกับหมาตามลำพังแน่นอน
แต่ถ้าลูกคุณเคยเรียนดีมาตลอด แล้วจู่ ๆ ก็เรียนแย่ลงนี่ซิ น่ากังวล เพราะแสดงว่าเกิดอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมากีดขวางความสนใจในการเรียนของลูกเข้าแล้ว ปัญหาของเด็กที่เรียนแย่ลงจึงต่างจากเด็กเรียนอ่อนและมีความซับซ้อนยิ่งกว่า

( คัดลอกจากคู่มือแม่รับปัญหาลูกวัยรุ่น : mimilife family vol.4 June 1999 )



โดย : นาง วัชรินทร์ แย้มโสภี, โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย, วันที่ 26 ตุลาคม 2544