สองพี่น้อง


ที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีคลองอยู่คลองหนึ่ง เรียกว่า “คลองสองพี่น้อง” ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสองพี่น้อง เรื่องนี้มีนิทานเล่ากันมาแต่โบราณว่า
สมัยหนึ่ง มีชายสองคนพี่น้องอาศัยอยู่ที่คลองนี้ ทั้งสองมีอาชีพทำไร่ทำสวน ฐานะค่อนข้างมีอันจะกิน และรูปร่างหน้าตาก็หล่อเหลาเอาการ เป็นที่หมายปองของสาวในบ้านเดียวกัน แต่ชายหนุ่มทั้งสองหาสนใจไม่ ต่อมาไม่นานทั้งสองได้ข่าวว่ามีสาวงามสองคนอยู่ในตำบลท้องที่อำเภอบางปลาม้า หญิงทั้งสองนี้สวยงามมาก ชายทั้งสองพี่น้องจึงคิดต้องการนางมาเป็นคู่ครองทั้งสองคน ต่อมาสองพี่น้องได้จัดเถ้าแก่ไปสู่ขอ พ่อแม่ฝ่ายหญิงเมื่อได้ฟังคุณสมบัติของฝ่ายชายก็ไม่รังเกียจ และเห็นว่าลูกสาวของตนอายุสมควรที่จะมีคู่ครองได้แล้วจึงตอบตกลง “เมื่อมาสู่ขอลูกสาวของฉันไปตกไปแต่งทั้งที ก็ขอให้สมกับหน้าตา ฐานะหน่อยหนึ่งจะได้ไหม” พ่อขอฝ่ายหญิงกล่าวกับเถ้าแก่ ฝ่ายหญิงต้องการให้จัดขบวนขันหมากลงเรือสำเภาให้ใหญ่โต จะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวบ้านแถวนี้
ครั้งถึงวันกำหนดนัด ฝ่ายชายก็จัดเครื่องขันหมากและเครื่องใช้ในการแต่งงานลงเรือสำเภา มีมโหรีปี่พาทย์ครบครัน เมื่อได้ฤกษ์ขบวนขันหมากพร้อมทั้งเจ้าบ่าวทั้งสอง ก็เริ่มเคลื่อนที่จากคลองสองพี่น้องออกไปทางแม่น้ำสุพรรณขึ้นไปทางเหนือมุ่งหน้าไปบ้านเจ้าสาว
ขณะที่เรื่อแล่นไป นักดนตรีก็เล่นดนตรีดังไปตลอดทาง จนถึงตำบลหนึ่ง เมื่อนักดนตรีเปลี่ยนเพลงมาเล่นซอ ชาวบ้านจึงเรียกที่แห่งนี้ว่า “บางซอ” เพราะนักดนตรีไปเล่นซอที่นั่น เมื่อแล่นไปอีกไม่นานเสียงดนตรีก็ยิ่งดังครึกครื้น สนุกสนาน ผู้คนในเรือก็ร้องรำกันไม่ได้หยุดที่แห่งนี้จึงเรียกว่า “บ้านสนุก”
เมื่อเรือขบวนขันหมากเลยบ้านสีสนุกไปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์อย่างไม่คาดคิดขึ้น คือ เรือสำเภาที่บรรทุกทั้งคนทั้งเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับงานแต่งานได้เกิดอุบัติเหตุอับปางล่มลง คนที่มากับขบวนขันหมาก และสิ่งของเครื่องใช้จมหายไปในน้ำหมด ดังนั้น ตรงที่เรือสำเภาล่มนั้นปัจจุบันจึงเรียกว่า “สำเภาทลาย” ส่วนเจ้าบ่าวสองพี่น้องจมน้ำตายทั้งคู่ ฝ่ายเจ้าสาวทั้งสองสมกับเป็นเจ้าสาวรอขบวนขันหมากด้วยใจระทึก ต่างคนก็คิดถึงเจ้าบ่าวของตนเองว่าหน้าตาหล่อเหลาแค่ไหน แต่เมื่อมีคนมาส่งข่าวว่าขบวนเรือขันหมากของสองพี่น้องล่มลงกลางแม่น้ำเสียแล้ว และเจ้าบ่าวของเธอก็จมน้ำตายด้วย หญิงทั้งสองเสียใจมาก เธอร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกบ้านทีหญิงทั้งสองอยู่ว่า “บ้านแม่หม้าย” ซึ่งปัจจุบันก็ขึ้นอยู่กับอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ผจงวาด กมลเสรีรัตน์. นิทานพื้นบ้านภาคกลาง.กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น, 2543




โดย : นางสาว Laddawan Meegul, คลองหลวง ปทุมธานี 13180, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545