นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้าน บ่งบอก วิถีการดำเนินชีวิต

คนไทยมักจะมีนิทานปรัมปราเล่าสู่กันฟังมาช้านานแล้ว เป็นนิทานที่ให้ความรู้สาระ ความบันเทิงใจให้แก่เด็กๆ โดยผู้เฒ่า ผู้แก่ จะเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง เป็นการสั่งสอนให้รู้จักความดี ความชั่ว การประพฤติตนอยู่ในสังคม โดยผ่านจากตัวละครในนิทานนั้นๆสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักการประพฤติตนที่ดีในสังคมโดยผ่านตัวละครนิทานพื้นบ้าน พบว่าสภาพของความเป็นอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ท้องถิ่นที่ได้ไปศึกษามีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ประเพณีที่สืบทอดกันมา มีขนบธรรมเนียมที่เคร่งครัด ทั้งด้านศาสนา มีความสมานฉันท์ปรองดอง ทำงานร่วมกัน นิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่จะเป็นนิทานที่นอกจากจะเน้นเรื่องของระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ยังเป็นเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์ รวมถึงการพึ่งพิงกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งจะมีการสอดแทรกเรื่องความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความรัก และเรื่องราวของศาสนาอยู่ด้วยเสมอ เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ

หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่าไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น นิทานพื้นบ้านของแต่ละประเทศยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะทัศนคติของประชาชนแต่ละประเทศอีกด้วย เช่น นิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องของความพยายาม ความอดทน รักชาติ และการต่อสู้แข่งขัน นิทานพื้นบ้านของชาวยุโรปมักเป็นเรื่องของความรักหนุ่มสาว ความเมตตาของพระเจ้า ในขณะที่ นิทานพื้นบ้านของไทย จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที และการให้อภัย เป็นต้น

 



แหล่งอ้างอิง : www.shincamp.com

โดย : เด็กหญิง ศิริพร ชุ่มสูงเนิน, โรงเรียนสูงเนิน, วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547