ประเพณีไทย
 

วันมาฆบูชา
 

ความหมาย
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือนมาฆะหรือเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความสำคัญ
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตูการณ์อัศจรรย์ ที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกัน พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖ และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการ อุดมการณ์และ วิธีการปฎิบัติที่นำไปใช้ได้ทุกสังคม

ประวัติความเป็นมา
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือน ขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือเดือน ๓ ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันไว้ก่อนนับเป็นเหตุอัศจรรย์ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ อย่างคือ
๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผูได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า

เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาตและในโอกาสนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่า เป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์และวิธีปฎิบัติทางหระพุทธศาสนา

การถือปฎิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
พิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆบูรณมีพระจันทร์ เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสัการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป นั้นให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไปให้พุทธบริษัทได้ปฎิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบัน มีการบูชาด้วยการ เวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่างๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้นปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔

กิจกรรม
ศึกษาเอกสารหรือสนทนา เกี่ยวกับวันสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือโอวาทปาติโมกข์และแนวทางปฎิบัติในครอบครัว บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน ปฎิบัติธรรมที่วัด รักษษศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา


ที่มา : www.google.co.th

โดย : เด็กหญิง วิราศิณี พาสูงเนิน, ร.รสูงเนิน, วันที่ 29 มกราคม 2547