วรรณกรรมท้องถิ่นลับแล

                             เจ้าเงาะ (ฉบับทุ่งยั้ง)

           เมืองทุ่งยั้ง(เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์)เป็นเมืองที่มีตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่สำคัญต่างๆ ในท้องถิ่น  ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงเป็นชื่อของสถานที่  ที่มีลักษณะพ้องกันกับเรื่องราวที่เล่าขาน  อย่างเช่นเวียงเจ้าเงาะที่จะเล่าต่อไปนี้  โดยการเก็บข้อมูลจากวิทยากรในท้องถิ่น

                 เข้าใจว่าเป็นเมืองท้าวสามล มเหสีชื่อ นางมณฑา มีธิดาเจ็ดองค์ ต่อมาให้เมือพระธิดาทั้งเจ็ดถึงคาวรเจริญวัย  สมควรที่จะมีคู่ครอง  ท้าวสามลจึงจัดให้มีพิธีมีการเลือกคู่   พระธิดาผู้พี่ทั้งหกคน  ต่างก็เลือกได้คู่ครองทั้งหมดซึ่งมีศักดิ์ศรีพอ ๆ กัน แต่นางรจนาเลือกไม่ได้ ท้าวสามลจึงให้ทหารไปเกณฑ์ชายที่มีอยู่ทั้งเมืองมาให้รจนาเลือก  แต่รจนาก็ไม่พอใจที่จะเลือกใคร เลือกผู้ชายคนสุดท้ายซึ่งเป็นเงาะบ้าใบ้  อยู่กับเด็กเลี้ยงควายอยู่บริเวณต้นโพธิ์  (ปัจจุบันเรียกโพธฺ์ขี้นก  อยู่ในตำบลไผ่ล้อม      อ.ลับแล  ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเมืองทุ่งยั้งไปทางทิศตะวันออก  เหตุที่เรียกไผ่ล้อม  ก็เล่ากันว่าเพี้ยนมาจากคำว่า  ไพร่ล้อม  คือชาวบ้านซึ่งเป็นเด็กเลี้ยงควายที่อยู่ห้อมล้อมเจ้าเงาะอยู่นั่นเอง)  ท้าวสามลจึงสั่งให้ทหารไปนำตัวเจ้าเงาะมาให้รจนาเลือก ซึงเป็นการประชด  แต่เจ้าเงาะไม่ยอมมาแต่โดยดีจึงสั่งให้ทหารจำนวนสามพันคนไปช่วยกันฉุดเจ้าเงาะ  แต่ด้วยพละกำลังมหาศาล  เจ้าเงาะกลับฉุดลากทหารทั้งสามพันคน  จนกระทั่งพื้นดินบริเวณนั้นลึกลงไปกลายเป็นบึงเรียกว่า  "บึงสามพัน"  ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลไผ่ล้อม  ท้าวสามลโกรธเป็นยิ่งนักที่เจ้าเงาะขัดขืนไม่ฟังคำสั่ง  จึงสั่งทหารไปเพิ่มเป็นสามแสนคน  ให้ช่วยกันฉุดเจ้าเงาะมาให้ได้  แต่เจ้าเงาะกลับลากทหารทั้งสามแสนคนห้อตะบึงไปเป็นทางยาว  พื้นดินบริเวณที่ทหารถูกลากไปนั้นลึกลงไปกลายเป็นลำคลอง  เรียกว่า  "คลองสามแสน"  ปัจจุบันอยู่เป็นเขตรอยต่อระหว่างตำบลไผ่ล้อมกับทุ่งยั้ง  เมื่อไม่เป็นผลจึงให้ทหารไปหลอกถามเด็กเลี้ยงควาย  ก็ได้กลอุบายว่าให้ใช้ดอกไม้สีแดงล่อจนเจ้าเงาะเข้าวังมาให้รจนาเลือก  และนางรจนาก็เลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ โดยเสี่ยงพวงมาลัยให้ เป็นที่โกรธแค้นของท้าวสามลมาก จึงไล่ไปอยู่ปลายนา   ปัจจุบันเรียนว่า  "นาเศรษฐี"  (คือ บริเวณเวียงเจ้าเงาะในปัจจุบัน นาจะอยู่นอกคันคูเวียงเจ้าเงาะออกไป ทางด้านทิศเหนือของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์) ต่อมาท้าวสามลคิดฆ่าเจ้าเงาะ โดยใช้ให้ไปหาปลา (ที่หาปลาก็ยังมีหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน คือ บ่อลาง ตรงอนามัยทุ่งยั้ง) แต่เจ้าเงาะก็สามารถหามาได้ โดยอาศัยวิชาเรียกปลาที่นางยักษ์สอนไว้ให้ ต่อมาร้อนถึงพระอินทร์ ได้แปลงกาย   ยกกองทัพมาล้อมเมืองท้าวสามลไว้ แล้วท้าเจ้าเมืองตีคลี    แต่ก็ไม่มีใครสู้พระอินทร์ได้     พระอินทร์บอกว่าให้ลูกเขยคนเล็กออกมาตีคลี แล้วท้าวสามลก็ใช้ให้นางมณฑาไปตามเจ้าเงาะ เจ้าเงาะตอนแรกไม่ยอม แต่ก็ทนการอ้อนวอนของเมียและแม่ยายไม่ได้ จึงรับอาสา และร้อนถึงพระอินทร์ พระอินทร์ต้องนำเครื่องทรงมาให้ และก็สามารถตีคลีชนะ (สนามคลี จะมีลักษณะเป็นหลุมลึกบนศิลาแลง    ลึกประมาณ   ๓ -๕นิ้ว อยู่ที่บริเวณสนามโรงเรียนวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งในปัจจุบัน) ซึ่งทำให้เจ้าเงาะเป็นที่ชื่นมของท้าวสามลและได้ครองเมืองจากท้าวสามล  บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขตั้งแต่นั้นมา.

 


ที่มา : นางทองอยู่ สนประเทศ (วิทยากรท้องถิ่น ตำบลทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์) อายุ 78 ปี

โดย : นาง คุณากร ธรรมสรางกูร, โรงเรียนลับแลศรีวิทยา, วันที่ 21 กรกฎาคม 2546