ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษามีประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้

ก.การใช้ภาษาผิด

ข.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม

ค.การใช้ภาษาไม่กระจ่าง

ง.การใช้ภาษาไม่สละสลวย

ก.การใช้ภาษาผิด

การใช้ภาษาผิด หมายถึง การใช้ภาษาผิดหลักไวยากรณ์หรือผิดความหมายที่ต้องการ เราจะพิจารณากันตั้งแต่ระดับคำ กลุ่มคำ จนถึงประโยคดังต่อไปนี้

1.การใช้ภาษาผิดความหมาย

การใช้คำต้องระวังเรื่องคำที่มีความหมายแฝง,คำที่เสียงคล้ายคลึงกัน,คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน และคำไวยากรณ์ เช่น ลักษณะนาม บุพบท สันธาน ตัวอย่างเช่น

- องค์ประกอบของรังแค คือกรรมพันธุ์ ความเครียด อากาศแห้ง การขาดสารอาหารบางชนิด

“องค์ประกอบ” หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันทำให้เป็นรูปขึ้นใหม่โดยเฉพาะประโยคต้องใช้คำว่า “ปัจจัย” หรือ “สาเหตุ” เพราะสิ่งที่ตามหลังคำกริยา “คือ” นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรังแค มิใช่องค์ประกอบของรังแค

2.การใช้กลุ่มคำและสำนวนผิด ตัวอย่างเช่น

- ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่าทางไปสู่ความสำเร็จไม่ได้ปูลาดด้วยกุหลาบ

สำนวนคือ “ทางที่ปูลาดด้วยกลีบกุหลาบ” เป็นการใช้ภาษาในเชิงเปรียบเทียบ เปรียบทางที่ราบรื่นสะดวกสบายว่าเหมือนทางที่ปูหรือลาดด้วยกลีบกุหลาบ ความหมายเน้นที่กลีบกุหลาบ ไม่ใช่ดอกกุหลาบเป็นดอก ๆ

3.การเรียงคำหรือกลุ่มคำผิดลำดับ

การเรียงคำผิดลำดับ คือ เรียงคำในลำดับที่ทำให้ความหมายไม่ตรงกับที่ต้องการหรือเรียงคำในลักษณะที่ไม่ใช้ภาษา

การเรียงกลุ่มคำผิดลำดับ มักจะเกิดจากการวางกลุ่มคำขยายไว้ห่าง จากคำที่ต้องการขยายมากเกินไป ตัวอย่างเช่น

-ฉันขยับขึ้นลุกนี้

ในประโยคนี้ "ขึ้น" เป็นส่วนของหน่วยกริยาที่ต้องวางไว้หลังคำกริยา "ลุก" ดังนี้ "ฉันขยับลุกขึ้นนั่ง"

4.การใช้ประโยคไม่สมบูรณ์

หมายถึง รวมประโยคที่ขาดส่วนสำคัญของประโยค และประโยคที่มีส่วนเกินเข้ามาทำให้ซ้ำซ้อนหรือโครงสร้างของประโยคผิดไป ตัวอย่างเช่น

- ฉันรู้สึกเป็นสุขราวกับขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น เมื่อเขาคนนั้นยื่นดอกกุหลาบสีแดงที่กำลังแย้มกลีบบานออกมารับแสงอาทิตย์ในยามเช้า พร้อมกับบอกว่า "สวัสดีปีใหม่"

ข้อความที่ขาดคำว่า "ให้" ซึ่งเป็นส่วของหน่วยกริยา "ยื่น.....ให้" ถ้าไม่มีคำว่า "ให้" ความหมายของประโยคจะต่างไป ในที่นี้เติมคำว่า "ให้" หลังจากคำว่า "ยามเช้า"

ข.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม

1.การใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น

-บ้านของฉันดันมาตั้งอยู่ตรงหัวโค้งถนนพอดี (จำเพาะ)

2.การใช้คำต่างประเทศในภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น

-เขาเป็นคนตรงไปตรงมา ค่อนข้างแอนตี้สังคม (ต่อต้าน)

3.การใช้คำไม่เหมาสมกับความรู้สึก ตัวอย่างเช่น

-คุณลุงเจ็บกระเสาะกระแสะมาปีกว่าแล้ว เมื่อสองสามวันก่อน ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลอีก เราคาดหวังกันว่า เจ็บคราวนี้ท่านคงอยู่ได้ไม่นาน

ถ้าใครพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ากำลังแช่งคุณลุงให้ตายเสียที ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนใช้คำอื่น เช่น คาดคะเน คาดว่า คาดคิด เป็นต้น

4.การใช้คำไม่เหมาะมกับเนื้อความ ตัวอย่างเช่น

-เพียงแต่เราจะสละเวลาเพียงเล็กน้อยเดินไปที่หน่วยเลือกตั้ง

ในที่นี้ใช้คำกริยา "เดิน" เจาะจงเกินไป โดยแท้จริงแล้ว การไปที่หน่วยเลือกตั้ง จะไปโดยวิธีใดก็ได้ ดังนั้นจึงควรตัดคำว่า "เดิน" ออกไป

5.การใช้คำต่างระดับ ตัวอย่างเช่น

-ในเมืองนี้ยังมีสถานท่ให้เที่ยวชมหลายแห่งล้วนแต่น่าทัศนาและน่าศึกษา

ควรเลือกคำที่อยู่ในระดับเดียวกันมาใช้ คือ เปลี่ยนคำว่า "ทัศนา" เป็น "น่าดู"

6.การใช้คำไม่เหมาะกับโวหาร ตัวอย่างเช่น

-เขาเดินผ่านเข้าไปในซุ้มไม้ที่เขียวชอุ่มเป็นพุ่มงาม บังแสงอาทิตย์เสียสิ้น

ซุ้มไม้ที่เป็นพุ่มคงไม่สูงเสียดยอดและแน่นขนัดถึงขนาดบังแสงอาทิตย์จนมองไม่เห็น

ค.การใช้ภาษาไม่กระจ่าง

1.การใช้คำไม่ชัดเจน

ระวังการใช้คำที่มีความหมายไม่แน่นอน เช่นคำที่มีความหมายแสดงความรู้สึกต่าง ๆ หรือประเมินคำว่า ดี เลว เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

-ตัวผู้ปกครองเองไม่เข้าใจในระบอบนี้ หรือเข้าใจ แต่หวงอำนาจ ประเทศของเราจึงมิได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

แต่ละคนมีเกณฑ์การวัดความควรและไม่ควรแตกต่างกันไป จึงควรแก้ไขให้ชัดเจนว่า "มิได้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย"

ระวังการใช้คำที่มีความหมายกว้าง หรือการใช้คำที่ไม่ระบุความหมายให้ชัดเจน ลองเปรียบเทียบประโยคต่อไปนี้

-เขาถูกไล่ออกเพราะไม่ซื่อสัตย์

-เขาถูกไล่ออกเพราะยักยอกเงินของบริษัทไป 3 หมื่นบาท

ประโยคที่สองมีเนื้อความชัดเจนกว่าประโยคแรก

2.การแสดงความคิดไม่สอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น

-ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนคิดว่าแก้ยาก แต่ถ้าจะแก้ก็ง่ายนิดเดียว

ในประโยคแรกกล่าวว่า ปัญหานั้นแก้ยาก แต่ประโยคหลังกลับบอกว่าแก้ง่าย จึงไม่รู้ว่าปัญหานั้นแก้ยากหรือแก้ง่าย ควรเปลี่ยนให้ชัดเจนว่า "ปัญหาดังกล่าวดูเหมือนจะแก้ยาก แต่ถ้าจะแก้ก็ง่ายนิดเดียว

ง.การใช้ภาษาไม่สละสลวย

1.การใช้คำฟุ่มเฟือย

ประโยคต่อไปนี้มีคำหรือกลุ่มคำที่ให้ความหมายอย่างเดียวกันซ้ำซ้อนกันอยู่ วิธีแก้ไขคือตัดคำใดคำหนึ่งออก

-แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ ในรายงานชิ้นนี้อย่างแน่ชัด แต่ผู้จัดทำขอรับผิดชอบ ความผิดพลาด ความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ในหลาย ๆ ด้านแต่เพียงผู้เดียว

ประโยคต่อไปนี้ใช้คำหรือกลุ่มคำที่บริบทบอกความหมายอยู่แล้ว และยังซ้อนคำหรือกลุ่มคำอื่น ๆ เข้ามาทำให้ประโยคเยิ่นเย้อ

-บ้านเรือนของผู้คนมีอยู่เป็นระยะ ๆ

บ้านเรือน หมายถึง ที่อยู่ของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องเพิ่เมส่วนขยายว่า "ของผู้คน" ้เข้ามาอีก

ประโยคต่อไปนี้ใช้คำหรือกลุ่มคำเกินความจำเป็น โดยเฉพาะสำนวน "ทำการ" "มีการ" "ในการ"

ิ -ในศาลเจ้ามีกระถางธูป ที่จุดเทียนทำการสักการะพระพุทธรูป

2.การใช้คำไม่คงที่ ตัวอย่างเช่น

-แผ่นดินไทยเป็นของคนไทยทุกคน ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาพสุธาดลนี้ไว้ เราก็ไม่มีธรณีจะอยู่อีกต่อไป

ไม่ควรใช้คำในภาษาร้อยกรองมาใช้ในภาษาบรรยาย ลักษณะเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการหลากคำให้ฟังไพเราะขึ้น หากทำให้ประโยคไม่สละสลวยฟังแปร่งหู

3.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น

-เรามักจะให้ความหมายแก่ภาษาอันรวมหมายถึงภาษาพูดและภาษาเขียนว่าเป็นสิ่งสื่อสารอย่างหนึ่ง

-แทนที่ประชาชนที่อ่าน จะได้ประโยชน์กลับถูกยื่นยาพิษให้โดยไม่รู้ตัว

ทั้งสองประโยคสามารถสื่อความหมายได้ แต่ถ้าเปลี่ยนคำว่า "สิ่ง" เป็น "เครื่องมือ" และ "ประชนที่อ่าน" เป็น "ผู้อ่าน" ประโยคก็จะสละสลวยขึ้น

4.การลำดับคำไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น

-ผู้อ่านเองก็สามารถจะสัมผัสถึงความละเอียดละมุนละไมของภาษาที่ผู้เขียนใช้ได้

"ได้" ขยายกริยา "สัมผัส" จึงควรย้าย "ได้" ไปไว้หลังคำกริยา "สัมผัส" เป็น "สัมผัสได้ถึง"

5.การใช้ประโยคที่มีลักษณะไม่เป็นภาษาไทย

ข้อนี้สำคัญมาก จะแยกได้ว่าประโยคใดไม่มีลักษณะเป็นภาษาไทย ตัวอย่างเช่น

-ฉันพบตัวเองอยู่ในบ้านคนเดียว

จะเห็นได้ว่า ประโยคตัวอย่างข้างต้นเยิ่นเย้อ ประโยคเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากสำนวนหรือรูปประโยคของภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เราสามารถเขียนประโยคใหม่ ให้มีลักษณะเป็นภาษาไทย ดังนี้

- ฉันอยู่ในบ้านคนเดียว

พึงตระหนักว่าการใช้ภาษาไทยนั้น

“ตัดออกสักคำก็ขาด เพิ่มเข้าสักคำก็เกิน ใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก”

 



แหล่งอ้างอิง : หนังสือ ติวไทย เอ็นทรานซ์ เล่ม 2

โดย : นางสาว ฐิติพร ก้านบัว, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 19 กันยายน 2545