ประวัติเมืองพัทลุง

ภูเขาอกทะลุ
จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมชนที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียในด้านพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เมืองพัทลุงได้ตั้งขึ้นอย่างมั่นคงภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 มีฐานะเป็นเมืองชั้นตรีซึ่งนับได้ว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ แต่เมืองพัทลุงได้ประสบปัญหาการโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์อยู่บ่อยๆ ทำให้เมืองพัทลุงเป็นเมืองที่มีการย้ายสถานที่ตั้งหลายครั้ง 
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองพัทลุงได้ยกขึ้นเป็นเมืองชั้นโทในสมัยรัชกาลที่ 1 และในช่วงนี้เองที่เมืองพัทลุงได้มีบทบาทในการร่วมมือกับพระมหากษัตริย์ต่อสู้ป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น สงครามเก้าทัพ (พ.ศ.2328 - 2329), สงครามปราบปรามกบฏไทรบุรี (พ.ศ.2373 - 2381) ฯลฯ ซึ่งบทบาทดังกล่าวช่วยให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุงในด้านการเมืองการปกครองในอดีตเป็นอย่างดี 
พระ 4 มุมเมือง

ครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลในพ.ศ.2437 และได้จัดตั้งมณฑลนครศรธรรมราชขึ้น ประกอบด้วยเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สำหรับเมืองพัทลุงแบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอคือ กลางเมือง อุดร ทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ จนกระทั่งปีพ.ศ.2467 รัชกาลที่ 6 ให้ย้ายเมืองพัทลุงมาอยู่ที่ตำบลคูหาสวรรค์ในปัจจุบัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟและสะดวกในการติดต่อกับเมืองต่างๆ
จากอดีตถึงปัจจุบัน เมืองพัทลุงได้ย้ายที่ตั้งหลายครั้ง สถานที่เหล่านั้นได้แก่
         - โคกเมืองแก้ว อยู่ที่ ต.จองถนน อ.เขาชัยสน
         - บ้านควนแร่ อยู่ที่ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง
         - เขาชัยสนหรือเขาเมือง อยู่ที่ ต.ชัยบุรี อ.เมือง
         - ท่าเสม็ด อยู่ที่ ต.ท่าเสม็ด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
         - เมืองพระรถ อยู่ที่ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง
         - บ้านควนมะพร้าว อยู่ที่ ต.พญาขัน อ.เมือง
         - บ้านม่วง อยู่ที่ ต.พญาขัน อ.เมือง
         - บ้านโคกสูง อยู่ที่ ต.ลำปำ อ.เมือง
ต่อมาในปีพ.ศ.2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ ทำให้เมืองพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง และในปัจจุบันจังหวัดพัทลุงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง ควนขนุน เขาชัยสน ปากพะยูน กงหรา ตะโหมด ป่าบอน ศรีบรรพต ป่าพะยอม บางแก้ว และกิ่งอำเภอศรีนครินทร์

 



แหล่งอ้างอิง : วารสารเมืองลุง

โดย : นาย พนัตพงษ์ เกื้อวงศ์, สถาบันราชภัฏสงขลา, วันที่ 2 พฤศจิกายน 2545