ประเทศไทย

ประวัติและความเป็นมาของประเทศไทย

ประเทศไทยแต่เดิมมีชื่อว่า "ประเทศสยาม" หรือ "สยามประเทศ"

ดินแดนที่เป็นประเทศไทยส่วนใหญ่นับแต่บริเวณภาคใต้ไปจนภาคเหนือ อันเป็นเขต ป่าเขานั้น อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า กึ่งชุ่มชื้น และกึ่งแห้งแล้ง จึงเป็นบริเวณที่เหมาะสมแก่การตั้งหลักแหล่งของชุมชนมนุษย์ให้เป็นบ้านเมืองได้เกือบทั้งสิ้น

รัฐหรือแคว้นในดินแดนประเทศไทยในระยะแรกเริ่มส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 7-8 เรื่อยมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 15 การย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานจึงเลือกเฟ้นและจำกัดอยู่ในบริเวณภูมิภาคดังกล่าว ที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านเกษตรกรรมและการเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้ากว่าบริเวณอื่น ๆ ภาคอื่นซึ่งได้แก่ภาคเหนือและบริเวณอื่นที่ใกล้เคียงก็มีผู้คนอยู่เพียงแต่มีแต่เป็นชุมชนเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เท่านั้น

กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา นับได้ว่ามีฐานะเป็นราชอาณาจักรสยามอย่างแท้จริงสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นอาณาจักรสยามอย่างแท้จริง คือมีหลักฐานทั้งด้านพระราชพงศาวดารและกฎหมายเก่าตลอดจนจารึกและลายลักษณ์อื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่ามีการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์แห่งอำนาจมาอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ ณ ราชธานีเพียงแห่งเดียว

นั่นก็คือ การยกเลิกการแต่งตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ เช่น พระราชโอรส พระราชนัดดา ไปปกครองเมืองสำคัญที่เรียกว่า เมืองลูกหลวง หรือหลานหลวง ตั้งแต่ก่อนออกกฎข้อบังคับให้บรรดาเจ้านายอยู่ภายในนครโดยมีการแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง ชั้นยศ ศักดิ์ และสิทธิพิเศษของแต่ละบุคคล ส่วนในเรื่องการปกครองหัวเมืองนั้น โปรดให้มีการแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองเจ้าเมือง ขุนนาง และคณะกรรมการเมืองแต่ละเมืองมีตำแหน่ง ยศ ชั้น ราชทินนาม และศักดินา ลำดับในลักษณะที่สอดคล้องกับขนาดและฐานความสำคัญของแต่ละเมือง ส่วนเมืองรองลงมาได้แก่ เมืองชั้นโท และชั้นตรี ที่มีเจ้าเมืองมียศเป็นพระยาหรือออกญาลงมา บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ไม่มีอำนาจและสิทธิในการปกครองและการบริหารเต็มที่อย่างแต่ก่อน จะต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของเจ้าสังกัดใหญ่ในพระนครหลวง ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายทหารและพลเรือน

นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 ลงมา ผู้ที่เรียกว่าชาวสยามหรือเมืองที่เรียกว่าสยามนั้น หมายถึงชาวกรุงศรีอยุธยาและราชอาณาจักรอยุธยาในลักษณะที่ให้เห็นว่าแตกต่างไปจากชาวเชียงใหม่ ชาวล้านนา ชาวรามัญ ชาวกัมพูชา ของบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน

ที่ตั้งของประเทศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ในทวีปเอเชียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า "คาบสมุทรอินโดจีน" ซึ่งมีความหมายมาจากการเป็นคาบสมุทรที่เชื่อมต่อ คืออยู่ระหว่างกลางของดินแดนใหญ่ 2 บริเวณ คืออินเดียทางตะวันตก และจีนทางตะวันออก โดยล้อมรอบไปด้วยเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือ พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเพื่อนบ้าน ในเขตภูมิภาคคือ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์

รูปร่างของประเทศไทย

มักจะมีการเปรียบเทียบรูปร่างของประเทศไทยว่าเหมือนกับขวานโบราณ โดยมีใบขวานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สันขวานอยู่ภาคเหนือ และด้ามขวานอยู่ทางภาคใต้ บางครั้งก็มองรูปร่างของประเทศไทยเหมือนกระบวยตักน้ำ นักภูมิศาสตร์ชาวอมริกันผู้หนึ่งมองรูปร่างของประเทศไทยเหมือนดอกไม้ บางคนมองเหมือนด้ามกะทะ บางคนมองเหมือนพัด บางคนมองเหมือนช้างมอบ แต่ในทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองถือว่ารูปรางของประเทศไทยไม่สมบูรณ์แบบ มีส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง ซึ่งมีผลต่อยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจ ลักษณะที่ยาวลงไปเป็นคาบสมุทรทำให้ยากต่อการป้องกันประเทศ และเสียค่าใช้จ่ายสูงในการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง

แต่ถ้ามองว่าประเทศไทยมีรูปร่างเหมือนหัวช้าง โดยมองที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหูช้าง เป็นแผ่นดินที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ เป็นแหล่งแรงงานขนาดใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ เกลือ ฝ้าย อ้อย มันสำปะหลัง ปศุสัตว์ ดินแดนคาบสมุทรภาคใต้เป็นงวงช้าง เป็นแหล่งเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว ทรัพยากรแร่ธาตุ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ผลไม้ อาหารและก๊าซธรรมชาติจากทะเล ภาคเหนือเป็นหัวช้าง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ มีเขื่อนอเนกประสงค์ที่เก็บน้ำเพื่อช่วยการชลประทานในภาคกลาง ภาคกลางเป็นแก้มช้าง ภาคตะวันออกเป็นริมฝีปากช้าง ภาคตะวันตกเป็นดั้งช้าง ซึ่งรวมกันเป็นส่วนของปากช้าง เป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีประชากรหนาแน่น เป็นแหล่งประมงหนาแน่น มีท่าเรือที่สำคัญ เช่น ท่าเรือสัตหีบ ท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่ง เป็นแหล่งที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ถ้าจะพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า หูช้าง หัวช้าง แก้มช้าง งวงช้าง ดั้งช้าง และริมฝีปากช้าง ล้วนแล้วมีความสำคัญต่อช้างอยางยิ่ง ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปช้างอาจจะมีชีวิตลำบากและตายไปในที่สุด เช่นเดียวกับประเทศไทยถ้าขาดดินแดนภาคใดภาคหนึ่งไป ประเทศไทยจะอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามทุกภูมิภาคหรือทุกส่วนของประทศย่อมมีความสำคัญเหมือนกัน และจำเป็นต้องทำนุบำรุงรักษาไว้ เพราะแต่ละภูมิภาคต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน การที่ประเทศไทยมีฝั่งทะเล 2 ส่วนจึงได้รับผลดีจากการที่มีฝั่งทะเลยาวดังนี้

- เป็นแหล่งประมงทางทะเลและประมงน้ำกร่อยได้อย่างกว้างขวาง

- เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาค้นหาทรัพยากรธรรมชาติในเขตไหล่ทวีปได้อย่างดี

- สามารถพัฒนาท่าเรือน้ำลึกได้เพื่อส่งเสรริมให้การรคมนาคมภายมนประเทศและการคมนาคมทางทะเลเจริญก้าวหน้า

- การที่ฝั่งทะเลยาว มีหาดทรายที่สวยงาม มีเกาะหลายแห่งอันเป็นแหล่งที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

แต่อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยมีรูปร่างไม่กะทัดรัด มีฝั่งทะเลยื่นยาวออกไปมาก มีทะเลขนาบถึง 2 ด้าน จึงมีผลเสียดังนี้

    • ต้องเสียงบประมาณทางทหารเป็นจำนวนมากในการดูแลป้องกันประเทศ
    • มีผลกระทบต่อการนำสินค้าหนีภาษีออกนอกประเทศและเข้าประเทศได้ง่าย

ภาษา

ประเทศไทยมีภาษาของตนเองโดยเฉพาะทั้งภาษาพูดและเขียนเป็นภาษาประจำชาติ เรียกว่า "ภาษาไทย" เราไม่ทราบแน่นอนว่าภาษาไทยกำเนิดมาจากแหล่งใด แต่เมื่อพบศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 1826 เป็นต้นมา ทำให้เราสามารถทราบประวัติและวิวัฒนาการของภาษไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นภาษาที่มีระดับเสียง โดยการใช้วรรณยุกต์กำกับ คือมีเสียงวรรณยุกต์ 4 รูป คือ ไม้เอก โท ตรี และจัตวา กำกับบนอักษรซึ่งปัจจุบันมีอักษรใช้ 44 ตัว แบ่งออกเป็นอักษรสูง 11 ตัว อักษรกลาง 9 ตัว และอักษรต่ำ 24 ตัว มีสระ 28 รูป ซึ่งมีเสียงสระ 32 เสียง ประกอบคำโดยนำเอาอักษรผสมกับสระวรรณคดี ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง นั้นกวีได้นำคำมารจนาให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งได้ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากลักษณะของภาษาไทย นั่นเอง

ธงชาติ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงหลายครั้ง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 116 และพระราชบัญญัติรัตนโกสินทร์ศก 118 ทุกฉบับ ได้ยืนยันถึงลักษณะของ ธงชาติว่าเป็นพื้นแดงกลางเป็นรูปช้างเผือก ไม่ทรงเครื่องหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 129 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 แก้ไขลักษณะธงชาติเป็น "ธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา" ประกาศนี้ให้เริ่มใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2459 เป็นต้นไป

ปี พ.ศ. 2460 ได้มีการแก้ไขลักษณะธงชาติอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 ลักษณะธงชาติมีดังนี้คือ เป็นรูปธงสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบ สีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ใน 3 ของความกว้าง ธงอยู่กลางมีแถบสีขาว กว้าง 1 ใน 6 ของความกว้างของธงข้างละแถบแล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอก อีกข้างละแถบพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์"

ความหมายของธงไตรรงค์ คือ

สีแดง หมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ

สีขาว หมายถึง ศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์

สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ

สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธงเป็นฉบับแรก ในรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่ว่าด้วยธงชาตินั้นยังคงใช้ธงไตรรงค์ แต่ได้อธิบายลักษณะให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม

เมืองหลวง

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีเนื้อที่กว้าง 1,549 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญต่าง ๆ ของชาติแต่เดิม กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นจังหวัด ๆ หนึ่งเรียกชื่อตามราชการว่า จังหวัดพระนคร ต่อมาได้รวมกับจังหวัดธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับกรุงเทพฯ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นจังหวัดเดียวกันโดยเรียกชื่อใหม่ว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335

รัฐบาลและการปกครอง

ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประเทศไทยมีการจัดระเบียบการปกครองภายในประเทศอย่างเป็นระบบ มาช้านานแล้ว ซึ่งยังผลให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่นและสามารถรักษาเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ การปกครองของไทยได้ปรับและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย และเป็นไปตามความต้องการของประเทศชาติเสมอมา ทำให้วิธีดำเนินการปกครองแต่ละสมัยแตกต่างกันไป

สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1981)

การปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือพระมหากษัตริย์ คำนำหน้าของ พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้นจึงใช้คำว่า "พ่อขุน"

สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 - 2310)

เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าอู่ทอง ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีเมื่อราวปี พ.ศ. 1893 คำที่ใช้เรียกพระเจ้าอู่ทองมิได้เรียก "พ่อขุน" อย่างที่เรียกกันมาครั้งสุโขทัย แต่เรียกว่า "สมเด็จ พระพุทธเจ้าอยู่หัว" พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเทวราชหรือสมมติเทพ เป็นองค์รัฐาธิปัตย์ ปกครองแผ่นดิน

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 - 2475)

ได้นำเอาแบบอย่างการปกครองในสมัยสุโขทัย และอยุธยามาผสมกัน ฐานะของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้อยู่ในฐานะเทวราชหรือสมมติเทพดังแต่ก่อน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ถึงแม้จะปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มีลักษณะประชาธิปไตยแฝงอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น แทรกอยู่ในการปกครองพระมหากษัตริย์ทรงให้สิทธิเสรีภาพแก่ประขาชนในการดำรงชีวิต การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการ ปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่ 3 สถาบันสำคัญคือ สถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมาย สถาบันบริหารซึ่งมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และสถาบันตุลาการซึ่งมีศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่พิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธย

เพลงชาติ 

เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ แสดงความเป็นเอกราชของชาติ ไม่เป็นเมืองขึ้น ของใคร เป็นแหล่งรวมใจของคนในชาติให้เป็นจุดเดียวกัน สร้างความรู้สึก สำนึก ในความเป็นพี่น้องสร้างความภูมิใจในศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพระหว่างคนในชาติและเพื่อปลุกใจให้เกิดความรักชาติ ความคิดเรื่องเพลงประจำชาติ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2414 โดยได้รับ อิทธิพลตะวันตก ซึ่งมีเพลงประจำชาติมาก่อน แต่เดิมไทยใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงประจำชาติ เพราะคำว่า "ชาติ" ของไทยนั้น หมายถึงพระมหากษัตริย์ เพลงชาติของไทยได้เปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2482 เพลงชาติฉบับที่ 7 ได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพลงชาติฉบับปัจจุบัน โดยทางรัฐบาลได้ประกาศ ประกวดเพลงชาติขึ้นใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 ผลการประกวด ปรากฏผู้ชนะได้แก่ นายพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ส่งในนามของกองทัพบก รัฐบาลได้ประกาศใช้เพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 โดยใช้เพลงชาติ ของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ในกรมศิลปากรใช้เนื้อร้องเพลงชาติของกองทัพบก ดังต่อไปนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

ศาสนา

ประเทศไทย มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยสามารถนับถือศาสนาต่าง ๆ กันได้ แต่มีผู้นับถือศาสนาพุทธกว่าร้อยละ 90 คนไทยยังนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และซิกซ์ เป็นต้น รัฐธรรมนูญของไทยและกฎหมายอื่น ๆ ให้ความคุ้มครองในเรื่องการนับถือศาสนาเป็นอันดี ไม่ได้บังคับให้ประชาชนชาวไทยนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นการเฉพาะ โดยถือว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนานิกายของศาสนา แม้ศาสนาต่าง ๆ จะมีแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันแต่ก็มีหลักเดียวกันคือต่างมุ่งสอนให้ทุกคนประกอบความดี ละเว้นความชั่ว ทั้งนี้เพื่อความเจริญของบุคคลในทางร่างกาย และจิตใจ อันจะนำสันติสุขมาสู่สังคมส่วนรวม



แหล่งอ้างอิง : สมชาย เปชะชมพันธ์ ภูมิศาสตร์ทวีปเอเชียกรุงเทพฯ บรูพาสาส์น 2534

โดย : นาย วุฒิชัย ชวลิตอำพร, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 13 กันยายน 2545