เมื่อธนบัตรกลายเป็นเศษกระดาษ |
|
ธนบัตร คือกระดาษที่เราสมมติขึ้นเป็นเงินตราโดยรัฐบาลพิมพ์ออกชำระหนี้ได้ ตามกฎหมาย หากมีปริมาณมากเกินไปค่าของธนบัตรก็จะเสื่อมลง เช่น ค่าเงินมาร์กของเยอรมนี เงินหยวนของจีน แบงก์กงเต๊กของไทย กลายเป็นเศษกระดาษ สมัยโน้นก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่ชามละ 3-5 สตางค์ เดี๋ยวนี้บะหมี่ชามละ 15-20 บาทและ 30-40 บาท อย่างนี้เรียกว่าธนบัตรเสื่อมค่าใกล้เป็นเศษกระดาษแล้วหรือยัง
เมื่อ 60-70 ปี หรือราว พ.ศ. 2465-2470 เมืองไทยมีเพียงสินค้าเกษตรส่งออกนอกคือ ข้าว ไม้สัก พริกไทย หนังสัตว์ ฯลฯ แต่ค่าของเงินบาทสูงยิ่งนัก
|
|
เวลาไปโรงเรียนคุณแม่ให้สตางค์ไปไว้รับประทานอาหารกลางวัน 7-10 สตางค์ ซื้อก๋วยเตี๋ยวน้ำ ชามละ 3 สตางค์ ถ้าเป็นบะหมี่ต้มยำอย่างดีใส่ถั่วลิสง หนวดปลาหมึก ตังฉ่าย หมู บะฉ่อโปะหน้าแผ่นเบ้อเร่อชามละ 5 สตางค์เท่านั้น ซื้อน้ำหวานหรือน้ำแข็งกดราดน้ำหวานเขียวหรือแดงอีก 1 สตางค์ เหลืออีก 34 สตางค์ ซื้อขนมอื่น ๆ รับประทานตามใจชอบ วันหนึ่งใช้ไม่เกิน 10 สตางค์
ที่กรุงเทพฯ ถนนเยาวราช-ราชวงศ์ บะหมี่กวางตุ้งชามละ 5 สตางค์ ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้าหมูหรือเนื้อจานละไม่เกิน 10 สตางค์ ไอศกรีมกะทิใส่ถั่วลิสง 4-5 เม็ด ถ้วยละ 1 สตางค์ ก็อิ่มแปล้แล้ว
บุหรี่นอก อับดุลลาร์ พัลมัล การิค (สิงโตหมอบ) ซองละ 10 สตางค์ สุราต่างประเทศ เฮนเนสซี ตราขาว จอนนี่วอล์กเกอร์ แบนเล็ก 10 สลึง เบียร์ซับโปโรขวดละ 35 สตางค์
ข้าราชการชั้นตรีสมัยโน้นเงินเดือน 80 บาท มีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยมาก สูทชุดแต่งงาน ผ้าปาล์มบีชชุดละ 4.50 บาท กางเกงผ้าชาร์กกิ้นใส่แล้วดิ้นแพรวพราวตัวละไม่เกิน 3 บาท
เคยเดินผ่านห้างไวท์อเวย์ บางรัก เห็นเสื้อนอกตัวหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นของนอกติดราคาไว้ 10 บาท ร้องโอ้โห ! ทำไมแพงอย่างนี้ เท่ากับ ข้าวเปลือกครึ่งเกวียน หรือทางคำหนัก 2 สลึง เพราะขณะโน้นราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 20-25 บาท เท่ากับราคาทองคำบาทละ 20-25 บาทเช่นกัน
อ่านพบอัตราแลกเปลี่ยนค่าของเงินบาทแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ดังนี้
ส.ร.อ. 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 3 บาท
อังกริส 1 ปอนด์ เท่ากับ 11 บาท
ญี่ปุ่น 1 เยน เท่ากับ 1 บาท
ฝรั่งเศส 12 แฟรงค์ เท่ากับ 1 บาท
เยอรมัน 2 มาร์ค เท่ากับ 1 บาท
รัสเซีย 5 รูเบิ้ล เท่ากับ 1 บาท
|
โดย : นาย อำนาจ ทัดชั่ง, โรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์, วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544
|