header


ชำแหละความฉลาดของไอน์สไตน์
จากการวิเคราะห์สมองไอน์สไตน์ครั้งล่าสุดโดยนักวิจัยจากแคนนาดาตีพิมพ์ในวรสารแลนเซ็ต ระบุว่าสมองของไอน์สไตน์มีลักษณะบางประการ ที่แตกต่างจากสมองของคนทั่วไปคือ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถด้านคณิตศาสตร์และการคิดหาเหตุผลแบบ spatial reasoning มีขนาดใหญ่กว่าขนาดเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัด และอาจจะมีการติดต่อกันระหว่างเซลล์ที่มากกว่าปกติ ทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก
ผู้ที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบสมองของนักวิทย์นามอุโฆษคือ ดร.แซนดรา วิเทลสัน นักวิจัยด้านระบบประสาทซึ่งเป็นผู้ดูแล brain bank หรือ ธนาคารสมอง ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ที่แฮมิลตัน ออนทาริโอ ประเทศแคนาดา ธนาคารสมองแห่งนี้มีตัวอย่างสทองปกติมากมายที่เจ้าของอุทิศไว้เพื่อการศึกษาก่อนตาย ทำให้ ดร.แซนดรา มีข้อมูลเปรียบเทียบมากพอที่จะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการศึกษาสมองที่มีอายุใกล้เคียงกับไอน์สไตน์มาทำการศึกษาเปรียบเทียบ



และผลจากการเปรียบเทียบนี้เอง ที่ยืนยันความรู้เดิมๆ ว่า ขนาดของสมองไอน์สไตน์ก็ไม่แตกต่างจากคนปกติ แต่ส่วนที่ต่างคือไอน์สไตน์มีสมองส่วนที่เรียกว่า อินฟีเรีย พารีทัล โลบ (inferior parietal lobe) ใหญ่กว่าปกติถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ดร.แซนดรารายงานไว้ว่า "การรับรู้แบบ visuo spatial การคิดเชิงคณิตศาสตร์ และการมีมโนภาพของการเคื่อนไหว ขึ้นตรงต่อสมองส่วนนี้มากที่สุด" เราทราบมาว่า การมองสิ่งต่างๆ อย่างทะลุปรุโปร่งของไอน์สไตน์เกิดจาก การคิดออกมาเป็นภาพก่อนที่จะแปลงเป็นภาษาคณิตศาสตร์ เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ที่เกิดจากความครุ่นคิดไอน์สไตน์ที่ว่า จะเป็นไปได้อย่างไรหากเราเคลื่อนที่ไปในอวกาศด้วยความเร็วเท่าแสง
นี่เป็นเพียงความเป็นไปได้ทางทฤษฎีประสาทวิทยายุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังไม่อาจสรุปได้ว่าจะเป้นจริงตามนี้หรือไม่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าไอน์สไตน์คือยอดอัจฉริยะและเราก็ทราบว่าสมองของเขาแตกต่างจากคนปกติ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่า สองสิ่งนี้เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
สิ่งที่ช่วยยืนยันให้มั่นใจได้ก็คือ เราจะต้องไปตรวจดูสมองของอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ท่านอื่นๆ ด้วยว่า สมองของเราเหล่านั้นมีความผิดปกติ แบบเดียวกับสมองไอน์สไตน์หรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นจริงก็ยังมีปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ ความผิดปกตินี้มาจากพันธุกรามหรือเป็นผลมาจากการฝึกบริหารสมอง ทำให้เราไม่รู้อยู่ดีว่าอัจฉริยภาพของไอน์สไตน์นั้นเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากการฝึกฝน


โดย : นาย ธนภูมิ ลิ่มชูเชื้อ, ร.ร.ภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544