วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร
|
|
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร
เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทิ้งร้างไปนานจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี ทรงปฏิสังขรณ์ทรงปฏิสังขรณ์บำเพ็ญพระกุศลเป็นอันมากเรียบร้อยแล้วให้ฉลองสมโภช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ และขนานนามว่า วัดเขมา ต่อมารัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ในวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ ได้เสด็จฉลองวัดเขมาภิรตาราม แล้วพระราชทานนามว่า วัดเขมาภิรตาราม ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระตำหนักแดง อนุสรณ์กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระที่นั่งมูลมณเฑียร ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชอุทิศ ให้รื้อมาปลูกในวัดนี้
สถานภาพของวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชั้น วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๗๔ หมู่ที่ ๘ ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี อยู่ด้านใต้ตัวเมืองนนทบุรีริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ ๒๖ ไร่ ห่างจากสะพานพระราม ๗ ไปทางทิศเหนือตามถนนพิบูลสงครามประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร
การเดินทาง : ทางน้ำ
จากท่าเรือด่วนหน้าหอนาฬิกาจังหวัดนนทบุรีถึงท่าน้ำวัดเขมาฯใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที จากท่าเรือด่วนท่าพระอาทิตย์ใกล้สนามหลวง ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯใช้เวลาประมาณ ๓๕ นาที วัดอยู่ริมฝั่งตะวันออก
การเดินทาง : ทางบก
จากหอนาฬิกาจังหวัดนนทบุรีประมาณ ๑.๕ กม. จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใกล้สะพานพระราม ๗ ถนนพิบูลสงคราม ประมาณ ๑.๒ กม. จากสนามหลวงประมาณ ๑๐ กม.
2
บริเวณวัดและสถานที่ใกล้เคียง
ทิศตะวันออก จรดโรงเรียนสตรีนนทบุรี
ทิศเหนือ จรดโรงเรียนกลาโหมอุทิศ และโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ถึงถนนพิบูลสงคราม
ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก
ทิศใต้ จรดวัดพลับพลา เลียบไปตามคูคั่นรอบวัด
ประวัติความเป็นมา
เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสมัยอยุธยา ต่อมาแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง เดิมเรียกสั้นๆ วัดเขมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ชาวเขมร มาสร้างไว้ และเอานามเขมรมาตั้งชื่อ คำว่า เขมาหรือเขมะหรือเขมะรัฐ แปลว่า เขมรนั่นเอง วัดเขมาอายุนานมากกว่า ๕๐๐ปี พระเจ้าอู่ทอง(พระรามาธิบดีที่ ๑) ทรงปฏิสังขรณ์ จึงเป็นที่สำคัญขึ้นคือเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ ยังทรงอุปถัมภ์และสังกัดในบัญชีกฐินหลวงของวังหน้า (กรมพระราชวังบวรฯ) มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ว่าวัดเขมาเป็นวัดใหญ่ ทรงขอมาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้ทรงปฏิสังขรณ์จนสำเร็จ ให้ข้าฯในกรมขุดรากฐานพระอุโบสถขยายออกไปให้กว้างและถมพื้นพระอุโบสถให้สูงขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯรับสั่งให้ก่อพระประธานสวมองค์เก่าบูรณะพระพุทธรูปทั้งหมดก่อกำแพงสร้างศาลาการเปรียญเรียบร้อยแล้วบำเพ็ญกุศลสมโภช เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก
๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)
ต่อมาปีกุน ตรีศก ๑๒๑๓(พ.ศ.๒๓๙๔)รัชกาลที่ ๔ ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ขุดคูรอบวัด สร้างพระอสีติมหาสาวกล้อมพระประธาน สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกเมื่อสิ้นรัชกาลก็ขาดตอนลง การบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำตามกำลังความสามารถของบรรดาเจ้าอาวาส และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
3
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดเขมาภิรตาราม
รูปพระมหาเจดีย์
รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้สร้างเมื่อ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๗ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถแบบศิลปอยุธยาภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๓ องค์ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง พระมหาเจดีย์สูง ๓๐ เมตร แล้วโปรดเกล้าให้มีการจัดงานฉลองในวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ ต่อมาได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ส่วนยอดพระมหาเจดีย์ได้หักลงมาถึงปล่องไฉนเมื่อซ่อมเสร็จเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์(ชื่น นพวงศ์) ทรงดำริจัดให้มีการสมโภชเป็นงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำทุกปีก่อนวันมาฆะบูชา จะจัดงานก่อนวันมาฆะบูชาสักกี่วันก็ได้ แต่จะสิ้นสุดในวันมาฆะบูชา ซึ่งในปีนี้ (๒๕๔๔) จัดเป็นปีที่ ๔๘
รูปพระมหาเจดีย์ มีพระอัคคีย์เจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ
๔
ในชั้นเดิมกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ได้ทรงสร้างเจดีย์ ๔ องค์มุมพระอุโบสถทั้ง ๔ ต่อมาได้เลื่อนพระเจดีย์จากมุมพระอุโบสถทั้ง ๔ องค์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ และถูกรื้อออกหมดทั้ง ๔ องค์ เมื่อปี ๒๔๙๕ โดยกรมศิลปากร
รูปพระอัคคีย์เจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ
รูปพระประธานในพระอุโบสถ ๒ องค์
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงสร้างพระประธานครอบองค์เก่าที่ดั้งเดิมเป็นทองคำใน พ.ศ. ๒๓๗๑
พระประธานองค์ที่ ๑ พระเพลา ๒.๙๐ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๔ เมตร
๕
รูปพระประธานองค์ที่ ๒
พระประธานองค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปโลหะ อัญเชิญจากวังจันทรเกษม จังหวัดอยุธยา มาประดิษฐานเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑ พระเพลา ๗๔ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๑๐๙ เซนติเมตร พระนามว่า
รูปพระอินทร์แปลง
พระนิรันตราย พระเพลา ๒๘ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๓๑ เซนติเมตร ถูกโจรกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓
รูปพระประธานพร้อมอสีติมหาสาวกพระอรหันต์ทั้ง ๘๐ รูปในพระอุโบสถ
รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก รอบพระประธาน ๘๐ รูป มีชื่อแต่ละองค์สลักปรากฏอยู่ที่ฐานอาสนะ
๖
ภาพเขียนเทพชุมนุมแบบไทยมีขบวนเทวดา นางฟ้า วงมโหรี รูปกระถางต้นไม้แบบจีน และช่อดอกไม้ลวดลายแบบตะวันตก รอบผนังพระอุโบสถ
รูปพระศรีอาริย์
พระศรีอาริย์ ประดิษฐานด้านหลังพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปหมดทุกส่วน ขาดแต่ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียร ซึ่งการไม่มีพระรัศมีบนพระเศียรเช่นนี้ บางคนสันนิษฐานว่ารูปพระศรีอาริย์ ซึ่งจะอยู่รวมกับสาวกไม่ได้ ต้องประดิษฐานไว้ข้างนอก พระธรรมรัชมงคล(หลวงปู่จับ อุคฺคเสโน) อดีตเจ้าอาวาส เข้าใจว่าข้อสันนิษฐานอันนี้ผิด เพราะแบบช่างไทยไม่ทำพระศรีอาริย์เป็นรูปพระ ต้องทำเป็นรูปเทวดา เพราะถือกันว่า พระศรีอาริย์ ยังเสวยทิพย์อยู่บนสวรรค์ ยังไม่ได้เป็นพระ (ตะละปัดในภาพถูกโจรกรรมเมื่อ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
รูปกำแพงแก้วหน้าบันเสาหาน (เสาระเบียงรอบพระอุโบสถ)
๗
รูปประตูกำแพงหน้าพระอุโบสถ
แต่เดิมมีศาลานอกแนวกำแพงหน้าพระอุโบสถ เรียกว่า ศาลาดิน ใช้เป็นที่เรียนหนังสือชั้นเด็กเล็กสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยใช้เรียน พอชั้นเด็กโตก็ไปเรียนพระที่นั่งมูลมณเฑียร ตามคำบอกเล่าของท่านนายกเอง (*ท่านพระครูพ้อง เขมจารี(พระครูสังวราภิรม) ต่อมากรมศิลปากรรื้อเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕
ผังบริเวณหน้าพระอุโบสถเดิมทางซ้ายเป็นหอระฆังเก่าหน้ากำแพงพระอุโบสถมีศาลาดินอยู่ข้างซ้ายและขวาประตูกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถปัจจุบัน ศาลาดินรื้อออกแล้ว
รูปหอระฆังในปัจจุบัน
รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระวิหารน้อย ๒ หลังที่มุมกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นที่เก็บพระพุทธรูป
มีเสมาคู่ หมายถึงได้เป็นวัดในนิกายธรรมยุต
๘
ศาลา ๔ หลัง ๔ มุมพระอุโบสถ
รูปพระตำหนักแดง
รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ย้ายมาเพื่อเป็นอนุสรณ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ตำหนักแดง เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(พระราชมารดา) ถูกรื้อย้ายมา ๓ ครั้ง ครั้งแรกย้ายไปพระราชวังเดิม ครั้งสองย้ายไปถวายวัดโมฬีโลก ครั้งสามย้ายมาเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม ลักษณะเป็นเรือนไม้สักทั้งหลังแบบเรือนฝากระดาน มีอายุมากกว่า ๑๖๐ ปี ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะ มีขนาดเท่าเดิม ยกใต้ถุนสูงระหว่างวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ใช้บริเวณใต้ถุนพระตำหนักเป็นที่ตักบาตรทุกวันธรรมสวนะ
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ แทนศาลาการเปรียญไม้หลังเก่าของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ตั้งอยู่นอกกำแพงหน้าพระอุโบสถเยื้องไปทางซ้ายมือบริเวณริมแม่น้ำ ใช้แสดงพระธรรมเทศนาและทำบุญตักบาตรในวันธรรมสวนะปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
๙
รูปศาลาทางเดินผ่านระหว่างกุฏิพระกับพระอุโบสถ ซึ่งใกล้กับบ่อเต่า
รูปพระที่นั่งมูลมณเฑียร
รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียร จากพระบรมมหาราชวัง (เดิมเป็นตำหนักไม้)ย้ายมาปลูกเป็นตึกไว้ ณ วัดเขมาภิรตาราม ทรงพระราชอุทิศเป็นที่เรียนชั้นเด็กโตจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมาใช้เป็นห้องสมุดประชาชนเมื่อห้องสมุดประชาชนย้ายไปอยู่ที่หลังพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี พระตำหนักจึงใช้เป็นห้องสมุดและห้องเรียนของโรงเรียนกลาโหมอุทิศชั่วคราว ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอซ่อมจากกรมศิลปากร
รูปกุฏิไม้สักทรงไทย ใต้ถุนสูง
๑๐
รายพระนามคณะเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม
ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่มีเอกสารบันทึกไว้ จึงลำดับได้จากเอกสารในรัชกาลที่ ๔
๑. พระเขมาภิมุขธรรม ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๗-๒๔๐๖ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๙ ปี
๒. พระเขมาภิมุขธรรม (ศรี) ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๒๒ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๑๖ ปี
๓. พระครูเขมาภิมุขธรรม (อิ่ม) พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๔๒๗ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๕ ปี
๔. พระอริยกวี (อ่อน) พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๓๓ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๖ ปี
๕. พระครูสถิตธรรมสโมธาน (สอน) พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๔๑ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๘ ปี
๖. พระวินัยรักขิต (คง) พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๖๓ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๒๐ ปี ผู้สร้างโรงเรียนวัดเขมาฯ ย้ายไปวัดเขาราม จังหวัดสงขลา
๗. พระเขมาภิมุขธรรม (นวล) พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๗๗ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๑๓ ปี
๘. พระเขมาภิมุขธรรม (เกตุ เกสโร) พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๐๙ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๓๓ ปี
๙. พระธรรมรัชมงคล (จับ อุคฺคเสโน) ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๔๑ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๓๒ ปี
๑๐. พระสุเมธีธรรมภาณ (ละเอียด สลฺเลโข) ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน
การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์
มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ จนถึงปัจจุบัน อาทิเช่น
พ.ศ. ๒๔๗๘ สร้างศาลาเฉลยอนุสรณ์ ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๔๘๑ สร้างโรงเรียนวัดเขมา (ซื้อที่ดินเพิ่มด้านทิศเหนือเพื่อขยายโรงเรียน ปัจจุบันเป็น ๒ โรงเรียนคือ
โรงเรียนกลาโหมอุทิศ สอนชั้นเด็กเล็ก อนุบาล-ป.6 ขึ้นกับ สปช. โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม
สอนชั้นเด็กโต ม.1-6 ขึ้นกับกรมสามัญศึกษา)
พ.ศ. ๒๔๘๒ ย้ายศาลาเล็กข้างตำหนักแดงมาปลูกในพื้นที่ให้เรียงเข้าแถวกับกุฏิหลังอื่นๆ
พ.ศ. ๒๔๙๕ บูรณะพระมหาเจดีย์ ลานพระเจดีย์ กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ พระวิหารเล็ก ๒ หลัง
ศาลาดิน หน้าพระอุโบสถ ๒ หลัง พระที่นั่งมูลมณเฑียร ถนนพื้นลานหน้าพระอุโบสถ
พ.ศ. ๒๔๙๖ ซ่อมแซมศาลาการเปรียญ
พ.ศ. ๒๔๙๗ ดัดแปลงพระที่นั่งมูลมณเฑียรเป็นหอสมุดประชาชน
พ.ศ. ๒๕๐๕ รื้อหอระฆังเก่าที่หน้าพระอุโบสถนอกกำแพงด้านซ้ายซึ่งชำรุดแล้วสร้างใหม่ที่ริมสระเต่าข้าง
พระตำหนักแดง
พ.ศ. ๒๕๐๙ รื้อกุฏิไม้สัก เปลี่ยนแปลงปลูกใหม่เป็นกุฏิทรงไทยชั้นเดียว และซ่อมสร้างถนนหลายสายในบริเวณวัด
พ.ศ. ๒๕๑๑ บูรณะกุฏิไม้สักทรงไทย เปลี่ยนใหม่เป็นชั้นเดียวใต้ถุนสูง
พ.ศ. ๒๕๔๐ บูรณะพระตำหนักแดง ยกใต้ถุนสูง ซ่อมภาพเขียนในพระอุโบสถ
11
บรรณานุกรม
สุภาพร สาวิชชโก วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร 2542 เอกสารประกอบการสอน
ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ ที่ระลึกในงานพระกฐินพระราชทาน
กองทัพบก ณ วัดเขมาภิรตาราม 17 พฤศจิกายน 2531 โรงพิมพ์กองทัพบก กรุงเทพมหานคร.
ที่ระลึกในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเขมาภิรตาราม พฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2528 โรงพิมพ์จุฑารัตน์การพิมพ์ กรุงเทพมหานคร.
พระเทพญาณกวี (จับ อุคฺคเสโน) พระมหาเจดีย์ วัดเขมาภิรตาราม อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี.
พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ประวัติวัดเขมาภิรตาราม ๒๕๑๔.
สารเขมาภิรตาราม วารสารเพื่อการศึกษาประชาสัมพันธ์โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 สิงหาคม-ตุลาคม 2542 นนทบุรี.
|
|
ที่มา : สุภาพร สาวิชชโก วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร 2542 เอกสารประกอบการสอนความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ ที่ระลึกในงานพระกฐินพระราชทาน
|
|
โดย : อาจารย์ เกษมศักดิ์ เริงโกสุม, รร.วัดเขมาภิรตาราม ถ.พิบูลสงคราม ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000, วันที่ 14 มิถุนายน 2545
|