หลักฐานทางประวัติศาสตร์

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มาศึกษาวิเคราะห์ ตีความเรื่องราว และตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราวเหตุการณ์นั้นๆ
หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวประวัติความเป็นมาของมนุษย์ เรียกว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
1. หลักฐานทางศิลปกรรมและโบราณคดี
หลักฐานทางศิลปกรรมที่สำคัญ คือ ศิลปวัตถุแบบอู่ทอง ศิลปวัตถุแบบลพบุรี
ศิลปวัตถุแบบทวารวดี นอกจากนี้ได้แก่เหรียญกษาปณ์ ซากอิฐปูนของวัดวาอาราม
พระพุทธรูป เครื่องใช้ตามบ้านเรือน ฯลฯ
2. หลักฐานของจีนราชวงศ์ต่างๆ
โดยเฉพาะหลักฐานของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น บันทึกของนักพรต นักบวช เช่น
บันทึกของสุมาเจียน จูตากวน และหลักฐานของจีนที่ปรากฏในพงศาวดารภาคต่างๆ
3. หลักฐานที่เป็นหนังสือเก่า
หนังสือเก่านั้นมักจะเขียนลงบนสมุดข่อยหรือใบลาน เช่น ตำนานสิงหนวัติ (เล่าเรื่อง
ตั้งแต่พระเจ้าสิงหนวัติอพยพมาจากเหนือ) , จามเทวีวงศ์ (เป็นเรื่องเมืองหริภุญไชย) , รัตนพิมพ์วงศ์ (เป็นตำนานพระแก้วมรกต) , สิหิงคนิทาน (เป็นประวัติพุทธศาสนาและประวัติเมืองต่างๆ ในลานนาไทย) , จุลลยุทธกาลวงศ์ (เป็นพงศาวดารไทย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ตลอดสมัยอยุธยา) , ตำนานสุวรรณโคมคำ และตำนานมูลศาสนา (เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย)
 ปัญหาของหลักฐานที่เป็นหนังสือเก่า คือ เราไม่ทราบว่าผู้บันทึกเขียนไว้เมื่อไร มีความจริงแค่ไหน และแต่งเติมเพียงใด




4. หลักฐานที่เป็นศิลาจารึก
ศิลาจารึกถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญมากในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในระยะเริ่มแรกสมัยสุโขทัย ที่สำคัญได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) , ศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) , ศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) , ศิลาจารึกหลักที่ 4 (จารึกวัดป่ามะม่วง) , ศิลาจารึกหลักที่ 8 ข. (จารึกวัดพระมหาธาตุ) , จารึกหลักที่ 24 (จารึกวัดหัวเวียงไชยา) , จารึกหลักที่ 35 (จารึกดงแม่นางเมือง นครสวรรค์) , จารึกหลักที่ 62 (จารึกวัดพระยืน ลำพูน) ฯลฯ
หมายเหตุ ศิลาจารึกให้ลำดับหลักตามการค้นพบ ก่อน – หลัง


5. หลักฐานพวกที่เป็นพงศาวดาร
พระราชพงศาวดารสยามมีมากมาย แต่ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์
ไทย ได้แก่
5.1 พระราชพงศาวดารสยามที่แต่งในสมัยอยุธยา คือ ฉบับหลวงประเสริฐ
5.2 พระราชพงศาวดารสยามที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ แยกเป็น 3 รัชกาล คือ
5.2.1 ฉบับรัชกาลที่ 1 มี 4 สำนวน คือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) , ฉบับเจ้าพระยาพิพิธพิชัย , ฉบับพระพันรัตน์ , ฉบับบริติชมิวเซียม
5.2.2 ฉบับรัชกาลที่ 3 มี 1 สำนวน คือ ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
5.2.3 ฉบับรัชกาลที่ 4 มี 4 สำนวน คือ ฉบับพระราชหัตถเลขา
5.3 พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ คือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับพระ
จักรพรรดิพงศ์ (จาด) พงศาวดารเหนือ พงศาวดารโยนก
6. หลักฐานที่เป็นจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ
หลักฐานพวกนี้เป็นหลักฐานภาษาต่างประเทศ เพราะมีชาวยุโรปหลายชาติเข้ามาติด
ต่อในสมัยอยุธยา หลักฐานเหล่านี้อยู่ในรูปของบันทึก จดหมายเหตุ จดหมายถึงผู้บังคับบัญชา จดหมายของข้าราชการและพ่อค้า เอกสารทางการทูต บันทึกของมิชชันนารี เช่น จดหมายเหตุของลาลูแบร์ , บันทึกของบาดหลวงเดอ ชัว สี , จดหมายเหตุวันวิลิต , เอกสารฮอลันดา , ฯลฯ

อ้างอิงจาก (สุริยันตร์ เชาวนปรีชา : เอกสารประกอบการสัมมนาประวัติพระยาพิชัยดาบหักเพื่อการจัดทำหลักสูตรบุคคลสำคัญท้องถิ่น )







โดย : นาง สุวลักษณ์ รัตคธา, ทุ่งกะโล่วิทยา, วันที่ 21 พฤษภาคม 2545