แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง


ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ในฐานะที่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกการขุดค้นและการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี ที่บ้านเชียงและบริเวณที่ใกล้เคียง นอกจากจะนำมาซึ่งหลักฐานแสดงการตั้งถิ่นฐานและอารยธรรมของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังทำให้เกิดพัฒนาการกระบวนการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่สุดของไทยอีกด้วย การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ.2517 -2518 ซึ่งเป็นโครงการร่วมที่ดำเนินการโดยมีกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบหลักฐานจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกในหลุมฝังศพ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก ผลการศึกษาค้นคว้าหลักฐานเหล่านี้ โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากหลายประเทศ ตลอดจนการกำหนดอายุเครื่องปั้นดินเผา โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ทราบว่ามนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่มีวัฒนธรรมประเพณีและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีพัฒนาการทางสังคมที่สืบเนื่องยาวนาน เมื่อราว 5600-1800 ปีมาแล้ว เรื่องราวของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้มีการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งที่เป็นเอกสารเผยแพร่และนิทรรศการเคลื่อนที่ไปแสดงในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาหลี มาเลเซีย ฯลฯ เป็นเหตุให้นักโบราณคดี และนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศเดินทางมาเยี่ยมชมอยู่เสมอมา

ข้อมูลจาก “ หนังสือมรดกไทย “



โดย : นาย ไชยา ภักดีวงศ์, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544