ประวัติพระเจ้าตากสินมหาราช |
|
พระนามเดิม สิน (จากพระราชสาส์นที่ทรงมีไปถึงพระเจ้ากรุงจีนใน พ.ศ. 2324 ทรงลงพระนามว่า แต้เจียว) ทรงเป็นบุตรชายของขุนพัฒน์ตำแหน่งนายอากร ชื่อหยง มารดาชื่อนกเอี้ยง ประสูติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2277 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บ้านของขุนพัฒน์(หยง) อยู่หน้าบ้านของเจ้าพระยาจักรี ขุนพัฒน์นำบุตรชายไปไว้ในความอุปการะของเจ้าพระยาจักรี ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้นำเเด็กชายสินไปฝากให้รับการศึกาาอบรมอยู่ในสำนักพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส จนอายุได้ 13 ปี มีความรู้อ่าน เขียน หนังสือไทยเป็นอย่างดี เจ้าพระยาจักรีจึงนำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในระหว่างนี้นายสินได้ศึกษาวิชาหนังสือเพิ่มเติม จนสามารถอ่านเขียนพูดภาษาต่างๆ ได้หลายภาษานอกจากภาษาไทย เช่น จีน ญวน บาลี และนายสินสนใจ ศึกษากฎหมาย เป็นพิเศษ ได้ศึกษาอยู่จนถึงระยะอุปสมบท
|
|
ก็กราบถถวายบังคมลาไปอุปสมบทที่วัดโกษาวาส ซึ่งเป็นระยะเดียวกับนายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) อุปสมบทอยู่ที่วัดมหาทลาย ครั้นเมื่อลาสิกขา ออกมาแล้ว ทั้งนายสินและนายทองด้วงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กต่อไปในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์(พ.ศ.2301-2310) นายสินซึ่งมีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดีได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร อันเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายไปประจำอยู่ที่เมืองตากทำหน้าที่นั้นอยู่จนพระยาตากถึงแก่อสัญกรรม หลวงยกกระบัตร(สิน) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตากต่อมา(คนนิยมเรียกกันว่า พระยาตากสิน จนแม้กระทั่งทรงเป็นกษัตริย์แล้ว ก็ยังเรียกว่า พระเจ้าตาก หรือพระเจ้าตากสิน หรือขุนหลวงตาก) ครั้นเมื่อพม่าล้อมกรุงฯ ในปี พ.ศ.2308 พระยาตาก(สิน) ก็ถูกเรียกตัวเข้ามาช่วยป้องกัน(ซึ่งขณะนั้นเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ ตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชร) ท้อใจว่า ถ้าอยู่สู้กับพม่าในกรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียชีวิต เพราะข้าศึกเข้ามาฆ่า หรือไม่ก็เพราะต้องพระราชอาญาเป็นแน่แท้ จึงตัดสินใจพาทหารคู่ใจราว 1,000 คนโจมตีพม่าไปตั้งตัวที่เมืองจันทบุรี
|
|
|
ครั้งต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 แล้ว พระยาตากรวบรวมกำลังคนได้เพียงพอแล้วก็นำทัพเรือ จากจันทบุรีเข้าขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้ทั้งหมด หลังจากที่เสียกรุงไปเพียง 7 เดือนเท่านั้น หลังจากนั่งช้างตรวจสภาพความเสียหายของบ้านเมืองแล้ว พระยาตากก็เห็นว่าไม่สมควรจะใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของไทยในสมัยนั้นและได้เล็งเห็นว่า กรุงธนบุรีเหมาะที่จะใช้เป็นเมืองหลวงต่อไป การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงและพิธีพระบรมราชาภิเษก กระทำขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2310 ทรงตั้งนามเมืองหลวงว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ส่วนพระองค์เองนั้นมีพระนามปรากฏหลายพระนาม เช่น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวบรมหน่อพุทธางกูรบ้าง สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 บ้าง ขุนหลวงตากบ้าง พระเจ้ากรุงธนบุรีบ้าง ขณะที่ทรงครองราชย์นั้น พระชนม์ได้ 34 พรรษา พระองค์ครองกรุงธนบุรีอยู่จน พ.ศ. 2325 จึงสวรรคตเมื่อ 6 เมษายน 2325 อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระพุทธยอดฟ้าขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ที่มา : ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี
|
โดย : นาย ํธน รัตนกิจโกศล, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 16 พฤศจิกายน 2544
|