สมเด็จย่า - แม่ฟ้าหลวง


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ต่อปวงชนชาวไทยและแผ่นดิน ทรงอุทิศและเสียสละพระองค์ เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต พระราชกรณียกิจ ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น มากมายเหลือคณานับ เป็นโชคดีและเป็นบุญบารมีของชาวไทยทั้งชาติ ที่ได้กำเนิดมาในแผ่นดินของพระบรมโพธิสมภารผู้ทรงทศพิธราชธรรม พระผู้ให้กำเนิด พระมหากษัตริย์ ถึง ๒ พระองค์ โดยที่พระองค์หนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน ทรงได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่า ทรงเป็น King of the King พระผู้ซึ่งทรงปกครองพสกนิกร ด้วยพระราชปณิทานที่ว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”
พระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีต่อปวงชนทุกชาติทุกภาษา ที่เกิดในแผ่นดินไทยนั้น เป็นคำตอบว่า ทำไมคนไทยทั้งชาติจึงพร้อมใจทูลเกล้าถวายพระสมัญญาแด่พระองค์ท่านว่า “ สมเด็จย่า ” และ “ แม่ฟ้าหลวง "

ที่มาของพระสมัญญา “ สมเด็จย่า ”
“ เออ ฉันเป็นย่าเขาก็แล้วกัน ”
แม้คำว่า “ สมเด็จย่า ” จะฟังขัดหูอยู่บ้างสำหรับท่านที่เคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่บังอาจไปนับญาติกับเจ้านายพระบรมวงศ์ แต่ก็เป็นพระราชสมัญญาที่ยืนยัน ถึงความรักอย่างเทิดทูน อย่างบริสุทธิ์ใจของประชาชนต่อพระองค์ท่าน ยากจะพบเห็นในประเทศอื่นใด ด้วยทรงมีพระอุปนิสัย และพระจริยวัตรหลายประการที่ชวนให้นึกถึงพระองค์ท่านในฐานะญาติผู้ใหญ่ ผู้เป็นที่รัก ศรัทธาและเคารพยิ่ง นอกจากจะทรงมีพระเมตตาสูงส่งต่อปวงชนขาวไทยดั่งลูกหลาน และไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อยแล้ว.….ปรากฏว่า เมื่อความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระองค์ มิได้ทรงแสดงการคัดค้าน กลับทรงตรัสว่า “ เออ ฉันเป็นย่าเขาก็แล้วกัน ”
*******************************************




ที่มาของพระสมัญญา “ แม่ฟ้าหลวง ”
พระสมัญญาที่ชาวไทยภูเขาได้ขานพระนามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยความเทิดทูนอย่างสูงยิ่ง หมายถึง “ แม่ที่สวรรค์เบื้องบนประทานมาให้ ” เป็นการอธิบายถึงการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนโดยเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่ลงมาจากท้องฟ้า มีหมอ พยาบาล เครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรค อาหาร ผ้าห่มกันหนาว ….. เมื่อทรงหมดภารกิจในการช่วยเหลือพวกเขา ก็ทรงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ที่มีเสียงดังปานฟ้าลั่นบินลับหายไปจากท้องฟ้า
********************************************

ที่มา : สารสนเทศสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ฉ. ๖ ปี ๒๕๔๔



โดย : นาง เอมอร Aem-on พิทยายน Phitthayayon, มหาวิทยาลัยมหิดล, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545