ครูยุคปฏิรูปการศึกษากับเทคโนโล

ครูยุคปฏิรูปการศึกษากับเทคโนโลยีสารสนเทศ

........................................................................

วราพร ไชยเขียว

เทคโนโลยีสารสนเทศ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Information Technology เรียกย่อๆว่า “ IT” โดยมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 คำคือ

เทคโนโลยี ( Technology ) หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์

สารสนเทศ ( Information ) หมายถึง ข้อมูลที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความจริงของคน สัตว์ สิ่งของ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หากมีการจัดเก็บรวบรวม เรียกค้น และสื่อสารระหว่างกัน นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

เทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information Technology ) หมายถึง การนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ มาใช้สร้างข้อมูลเพิ่มให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่จะรวบรวม จัดเก็บใช้งาน ส่งต่อ หรือสื่อสารระหว่างกัน โดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นสื่อหลัก

ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาคนเพื่อให้รู้เท่าทันโลกในยุคข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ จะเห็นว่านโยบายการศึกษาของแต่ละประเทศได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศมาโดยตลอด ดังนี้

สหรัฐอเมริกา

กำหนดเป้าหมายที่เป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไว้ 2 ประการคือ

    • ภายในปี ค.ศ. 2000 ทุกห้องเรียนต้องได้รับการเชื่อมต่อด้วยทางด่วนสารสนเทศ
    • ลดราคาการเชื่อมต่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของภาคการศึกษา

และนอกจากนี้ยังมีโครงการระดับชาติอีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายข้างต้น เช่น โครงการ Kickstart Initiative โครงการ Technology Literacy Challenge ( TLC ) ซึ่ง TLC เป็นโครงการ 5 ปี มีเป้าหมาย 4 ประการคือ

    1. ฝึกอบรมและสนับสนุนครูเพื่อให้สามารถช่วยเด็กให้เรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์และทางด่วนสารสนเทศ

2. พัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบการเรียน on-line เพื่อเสริมกับหลักสูตรของโรงเรียน

    1. ให้ครูและนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์
    2. เชื่อมต่อทุกโรงเรียนและทุกห้องเรียนในประเทศกับทางด่วนสารสนเทศ

สหราชอาณาจักร

รัฐบาลสหราชอาณาจักร มีเจตนารมณ์ที่จะยกระดับมาตรฐานการศึกษาของอังกฤษให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุดในโลก โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาดังนี้

    • เชื่อมต่อทุกโรงเรียนในสหราชอาณาจักรเข้ากับทางด่วนสารสนเทศและให้โรงเรียนเสียค่าบริการโทรศัพท์ในราคาถูกลง
    • พัฒนาโครงข่ายแห่งชาติเพื่อการเรียนรู้ ( National Grid for Learning ) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ที่จะเชื่อมโยงสถานศึกษาทุกแห่ง ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานประกอบการ บ้าน สถานที่ราชการ ฯลฯ เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งนำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

สิงคโปร์

กระทรวงศึกษาธิการร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น National Computer Board ( NCB ) และ Telecom Authority of Singapore ( TAS ) จัดทำแผนแม่บทไอทีเพื่อการศึกษา Master Plan For IT in Education ขึ้น โดยมี วัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ

  1. ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับโลกรอบด้าน
  2. ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และความรับผิดชอบทางสังคม
  3. ผลักดันกระบวนการนวัตกรรมทางการศึกษา
  4. ส่งเสริมความเป็นเลิศในการบริหารและจัดการการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

มาเลเซีย

มาเลเซียจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาภายในปี 2020 ซึ่งประกอบด้วย 7 โครงการ หนึ่งในนั้น คือ Smart School ซึ่งเป็นโครงการด้านการศึกษา มีเป้าหมายหลัก 5 ประการคือ

  1. สนับสนุนพัฒนาการรอบด้าน ( all-round development ) ของแต่ละบุคคล โดยครอบคลุมด้านสติปัญญา กายภาพ อารมณ์ และจิตใจ
  2. ให้โอกาสแต่ละบุคคลในการพัฒนาความเข้มแข็ง และความสามารถของตนเองเป็นพิเศษ
  3. คำนึงถึงความต้องการทางสังคมในการผลิตแรงงานที่มีความคิด ( Thinking Workforce ) มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ( Technological Literate )
  4. สร้างความเป็นประชาธิปไตยในการศึกษา เช่น เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้เรียนรู้โดยเท่าเทียมกัน
  5. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการการศึกษาทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชน

เมื่อมองเห็นภาพนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของต่างประเทศแล้ว ลองย้อนกลับมามองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของไทยบ้าง ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามานานแล้วจะเห็นได้จากการที่ กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 4 ( ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในปัจจุบัน ) ซึ่งได้จัดผลิตรายการส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการ ศิลปวัฒธรรม อาชีพ ฯลฯ สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2521 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขึ้นในรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล ระดับอุดมศึกษาขึ้น ในปี พ.ศ. 2527 –2537 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาโดยอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งศูนย์ผลิตรายการวิดีโอเทปขึ้น เพื่อให้ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา เป็นผู้ประสานงานจัดทำร่างแผนแม่บทโครงการพัฒนาโทรทัศน์ และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา ผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียมในการจัดการศึกษาทางไกล โดยแพร่ภาพออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ( ETV ) แพร่ภาพด้วยวสัญญาณในระบบดิจิตอลในย่านความถี่ Ku-Band

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นโยบายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของไทย ก็เพิ่งจะมีแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้วางหลักการที่สำคัญในการใช้โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศแห่งชาติไว้ในมาตรา 78 ซึ่งบัญญัติว่า “ รัฐจะต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น “

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จึงได้มีกฏหมายการศึกษาแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษกิจ และสังคม คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ . 2542 ซึ่งในหมวด 9 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาได้ระบุนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาดังนี้

  1. นโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการศึกษา
  2. นโยบายเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษา
  3. นโยบายการศึกษาตลอดชีวิต
  4. นโยบายส่งเสริมการผลิตและพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์และซอฟต์แวร์ทางการศึกษา
  5. นโยบายการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
  6. นโยบายการระดมทุนและกฏหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

กฏหมายอีกฉบับที่จะมามีส่วนช่วยสนับสนุนให้นโยบายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดำเนินไปอย่างเป็นระบบ นั่นคือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรร และกำกับดูแล โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

จากนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของไทยข้างต้น ครูควรจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างและทำให้เทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามเจตนารมย์ของ พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 และ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่แน่วแน่ในการนำนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยถือว่าเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปการศึกษาไทย คือการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้สามารถดำรงชีวิตในโลกแห่งเทคโนโลยี สารสนเทศควบคู่ไปกับการสงวนรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

ซึ่งการที่ครูจะสามารถสร้าง และทำให้เทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าครูมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีกับการเรียนการสอนถ่องแท้หรือยังว่า เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนอย่างไร ? ลักษณะใด ? และอะไรคือเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ เช่น

  1. การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ได้แก่เรียนรู้ระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ เรียนรู้จนสามารถใช้ระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำระบบข้อมูลสารสนเทศเป็น สื่อสารข้อมูลทาง Email และ Internet ได้ เป็นต้น
  2. การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี ได้แก่การเรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ และฝึกความสามารถ ทักษะบางประการโดยใช้สื่อเทคโนโลยี เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทางโทรทัศน์ที่ส่งผ่านดาวเทียม การค้นคว้าเรื่องที่สนใจผ่าน Internet เป็นต้น
  3. การเรียนรู้กับเทคโนโลยี ได้แก่การเรียนรู้ด้วยระบบการสื่อสาร 2 ทาง กับเทคโนโลยี เช่น การฝึกทักษะภาษากับโปรแกรมที่ให้ข้อมูลย้อนกลับถึงความถูกต้อง การฝึกการแก้ปัญหากับสถานการณ์จำลอง เป็นต้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน เห็นว่าโรงเรียนส่วนมากให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตามข้อ 1เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ ผู้บริหาร ครูผู้สอน เข้าใจไขว้เขว หลงลืมเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนที่แท้จริงก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ก็เป็นที่น่าเสียใจที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณอีกหลายร้อยล้านในปี พ.ศ. 2547 ที่ท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเจตนารมย์ว่าจะจัดสรรคอมพิวเตอร์ให้กับทุกโรงเรียนเพื่อให้เด็กไทยได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเด็กชนบท หรือในเมือง

บรรณานุกรม

ณัฐกร วิทิตานนท์.  ( 2546, 10-16 กุมภาพันธ์ ).  “ เสียงหนึ่งจากท้องถิ่นถึงรัฐธรรมนูญ2540,” พลเมืองเหนือ.  หน้า 7.

ICTกับการจัดการเรียนการสอน.  ( ออนไลน์ ).  ( 2546 ).  แหล่งที่มา : http://vod.msu.ac.th/0503765/unit4/ICT1.html

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในประเทศอังกฤษ.  ( ออนไลน์).  ( 2546 ).  แหล่งที่มา :  http://www.nfe.go.th/

นิภา แย้มวจี, ออนไลน์, 2545.เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน

กระแส ชนะวงศ์, ออนไลน์, 2544.การปฏิรูปการศึกษา:ประสบการณ์นานาชาติ


โดย : นาง วราพร ไชยเขียว, โรงเรียนบ้านวังเบอะ, วันที่ 4 มีนาคม 2546