ควาย

ควาย

“ ควาย “ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่มีความผูกพันธ์กับมนุษย์มาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จากหลักฐานภาพเขียนก่อนยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ ปรากฏภาพควาย ภาพปลา สัตว์ป่าบางชนิด เขียนอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ โดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าควายเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาแต่สมัยโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในประเทศไทยเชื่อว่า “ควาย” มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ใช้เป็นแรงงานเพื่อการเกษตร การขนส่งและการคมนาคม แม้แต่ในการสงครามยังใช้ควายเป็นพาหนะในการต่อสู้ข้าศึก เช่น สงครามของพี่น้องชาวบ้านบางระจัน

เดิมควายคงเป็นสัตว์ป่า เหมือนสัตว์ป่าทั่วไป แต่โดยสัญชาติญาณที่เป็นสัตว์ที่สามารถฝึกฝนทำให้เชื่องได้มนุษย์จึงนำมาเลี้ยง ฝึกฝน จนเชื่องและนำมาใช้แรงงาน เป็นประโยชน์ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความรักความผูกพัน ระหว่างมนุษย์กับควายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คนไทยใช้แรงงานจากควาย มาแต่ยุคสร้างอาณาจักรเพราะพื้นที่ในการตั้งอาณาจักรอยู่ในเขตราบลุ่ม อาชีพที่เหมาะสม คือการเกษตร ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ จึงพูดได้ว่า “ควายคือชีวิตของคนไทย”

ความใกล้ชิดระหว่าง “ควายกับคน” จะแตกต่างกับสุนัข หรือแมว ที่เลี้ยงดูไว้เพื่อจุดประสงค์หนึ่งเพราะเราถือว่าควายเป็นสัตว์มีบุญคุณ และได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง

โบราณมีพิธีทำขวัญควาย โดยเมื่อเสร็จจากฤดูไถหว่านแล้ว จะประกอบพิธีทำขวัญให้กับควาย มีการกล่าว โองการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่ช่วยเหลือในการทำมาหากิน ช่วยเหลือแรงงานด้านต่าง ๆ เสร็จแล้วจะมีการจัดหาหญ้าอ่อน น้ำสะอาดเลี้ยงดูให้กับควายมีหลายคนเรียกควายว่า “ลูก”

สมัยก่อนจะไม่มีการฆ่าควายเพื่อกินเนื้อเป็นอาหาร ทุกบ้านจะเลี้ยงดูจนแก่เฒ่าและปล่อยให้ตายเอง จึงจะยอมชำแหละเนื้อมาเป็นอาหาร แต่เก็บเขาเอาไว้เป็นที่ระลึก ว่าได้เคยช่วยเหลืองานมา และจดจำชื่อไว้ว่าเป็นเขาของควายตัวใด ๆ และเกิดประเพณีสะสมเขาควายต่อมา

โลกเจริญก้าวหน้า มีวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สังคมเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสังคมเกษตรในประเทศไทยจากที่เคยใช้ควายไถนา คราดนา ลากเกวียน นวดข้าว เปลี่ยนเป็น เครื่องจักร เครื่องนวดข้าว บทบาทของควายภาคเกษตรหมดลงโดยสิ้นเชิง “น่าใจใจหาย”

บทบาทใหม่ของควายล่ะ คืออะไร…จากสัตว์ที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณ ช่วยเหลืองานทุกครัวเรือนเอาใจใส่ เลี้ยงดูเป็นอย่างดี สุมไฟให้เพื่อป้องกันยุง หาหญ้า หาน้ำ เพื่อเลี้ยงดู อยู่กินอย่างเป็นเพื่อน ไม่น่าเลยคนใจร้ายทำได้ “เห็นหน้ากันอยู่

หลัด ๆ กินเสียได้”

ปัจจุบันควายถูกเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ คือเลี้ยงเพื่อส่งขายให้กับโรงฆ่าสัตว์ไม่มีการชะลอหรือละเว้น ควายหมดจากประเทศไทยแน่ ๆ เด็กรุ่นหลังคงรู้จักควายจาก อนุสาวรีย์ หรือรูปภาพเท่านั้น

โครงการ “บ้านควาย” ดำเนินการอยู่ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ ปลุกสำนึกให้กับพี่น้องประชาชนได้ระลึกถึง “ควาย” สัตว์ที่มีบุญคุณ ช่วยในการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน และยังส่งเสริมและอนุรักษ์ให้ควายเป็นสัตว์ที่ได้รับความสนใจ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณค่า เพราะไม่แน่ว่าวันข้างหน้าควายอาจกลับมามีบทบาทต่อชีวิตของพี่น้องเกษตรกรอีก

 

“วันนี้ดูไร้ค่า ที่ผ่านมาเคยช่วยชาติ”

กระบือ

สัตว์มีค่าที่ (เกือบ) ถูกลืม

สัตว์ ที่มีบุญคุณมหาศาล และมีความสำคัญต่อปากท้องของคนไทยมาเนิ่นน่านกระบือ หรือที่ในภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “ควาย” กระบือหรือควายนั้น มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มานานไม่ว่าจะเป็นเรื่องในวรรณคดีหรือประวัติศาสตร์ไทย อย่างเช่น ภาพยนตร์ เรื่องบางระจันที่นายทองเหม็นขี่กระบือ (ควาย) เข้าต่อสู้กับพม่า เพื่อป้องกันเอกราชของประเทศไทยจนกระทั่งตัวตายนอกเหนือจากเราจะใช้กระบือเป็นพาหนะในการรบแล้ว ก็ยังถูกนำมาใช้กับการเกษตรกรรมอีกด้วย ได้แก่ การไถนา ปลูกข้าว แต่ปัจจุบันเรามีเครื่องไถเป็นเครื่องจักร ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ควายเหล็ก” มาใช้กันเพราะมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว ดังนั้นกระบือจึงถูกละเลยและมนุษย์ก็ค่อย ๆ ลืมเลือนถึงคุณค่าตรงจุดนี้ทีละน้อย

ควายมีการเรียกแตกต่างกันไปแต่ละชาติแต่ละภาษา เช่น ภาษาจีนเรียกว่า “สุ่ยหนิว” (Sui Nui) ภาษาฟิลิปปินส์ เรียกว่า “คาราบาว” (Carabao) และภาษาไทยเรียกว่า “ควาย” (Khway) ภาษามาเลย์เรียกว่า “เกรเบา” (Krabao) เป็นต้น

 

พันธ์กระบือ

พันธุ์กระบือในโลกมี 2 ชนิด คือกระบือป่า และกระบือบ้าน ซึ่งสามารถแบ่งกระบือบ้านออกไปได้อีก 2 ประเภทดังนี้คือ- กระบือปลัก (Swamp Buffalo) ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว มีกระบือปลักเป็นจำนวนมาก ใช้สำหรับทำงานในท้องนา เพื่อปลูกข้าว และลากเข็นเมื่อกระบือใช้งานไม่ไหวแล้ว ก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร

- กระบือปลัก ยังมีความแข็งแรง มีกีบเท้าใหญ่ เคลื่อนไหว และเจริญเติบโตช้า ไม่ค่อยทนความร้อน จะแสดง

- อาการทุรนทุรายเมื่อไม่ได้ลงน้ำเป็นเวลานาน ชอบแช่ในโคลนตมเพื่อป้องกันแสงแดดและแมลงรบกวนได้แก่

- กระบืออินโดนีเซีย และกระบือไทย เป็นต้น

- กระบือปลักของไทยมีลักษณะ ขนาด และสี คล้ายกระบือในพม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซี่งมีสี 2 สี

- คือ สีเทาเข้มเกือบดำและอีกสี คือสีเผือก-ผิวหนังสีชมพู

- กระบือน้ำหรือกระบือแม่น้ำ (River Buffalo) กระบือพวกนี้คือ กระบือที่พบในอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ยุโรปตอนใต้ กระบือชนิดนี้เป็นกระบือนมมากกว่า ชอบน้ำสะอาด ไม่ชอบลงโคลน ได้แก่ กระบืออียิปต์ กระบือคอเคเซียน และกระบือเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น ควายแม่น้ำเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณสมัยรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ ยังไม่มีควายสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมากนัก

สำหรับการเลี้ยงกระบือในประเทศไทย เป็นการเลี้ยงตามยถากรรม ไม่มีการปรับปรุงพันธุ์ กระบือตัวผู้หากตัวใดดุก็ทำการตอนหากปล่อยไว้จะควบคุมยาก อีกทั้งยังให้กระบือเล็กแคระแกร็นไม่มีการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีและยังปล่อยให้กระบือหาอาหารกินเองในนาข้าวหรือในป่า คอกหรือที่อยู่ของกระบือก็ไม่มีส่วนมากมักจะผูกกับเสาเรือน หรือมีคอกอยู่ก็จะให้ฟางข้าวและน้ำกินโดยสุมไฟไล่แมลงรบกวน แต่ปัจจุบันนี้ได้หันมาสนใจการเลี้ยงกระบือกันอย่างจริงจังมากขึ้น

ในช่วงปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มโครงการธนาคารกระบือ (Buffalo Bank Project) ขึ้นที่ จ. ปราจีนบุรี และกรมปศุสัตว์รับผิดชอบในการดำเนินการ

ลักษณะทั่วไปของควาย

ขนาด

ควายจะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย

รูปร่างหน้าตา

ควายส่วนใหญ่รูปร่างอ้วน เตี้ย พ่วงพี ลำตัวสั้น ท้องกางกลม แข้งขาสั้น เขากางยาว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว

สี

ควายมีอยู่ 2 สี คือควายที่มีขนสีดำกับควายที่มีขนสีขาว โดยทั่วไปควายมีขนสำดำ ส่วนควายขนสีขาวหรือที่เรียกว่าควายเผือก

ควายเผือก (Albinoid Buffalo) ไม่ค่อยมีหน้าที่ในการเป็นสินค้า หรืออาหาร เพราะชาวนาไม่นิยมซื้อขาย และไม่นิยมฆ่าแกง แต่จะมีประโยชน์ด้านจิตใจมากกว่าควายสีดำ

เขา

ควายโดยทั่วไปหรือส่วนใหญ่มีเขายาวกางออกสองข้างศีรษะ ปลายเขาโค้งเข้าหากัน ลักษณะเขาควายส่วนล่างเป็นสี่เหลี่ยมรูปมนผิวขรุขระเป็นปล้อง ส่วนบนกลมเรียวปลายแหลมผิวลื่น ควายบางตัวมีเขาผิดปกติ คือเขาสั้นทู่หรือเขาหลูบห้อยลงสองข้างศีรษะ ขนาดเขาควายโดยปกติยาวประมาณ 60-120 เซนติเมตร

ฟัน

ควายมีฟันล่าง 20 ซี่ ส่วนฟันบนมีเฉพาะกราม 12 ซี่ ไม่มีฟันหน้า ด้วยเหตุนี้ชาวนาจึงเชื่อว่าควายไม่มีฟันบน

การเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์

ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณ 1.5 ปี ควายจะเจริญเติบโตใช้แรงงานได้ระหว่างอายุ 2.5-3 ปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ คือระหว่างอายุ 5-8 ปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้จนอายุย่างเข้า 20 ปี อายุควายโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 25 ปี (เว้นกรณีพิเศษที่ควายบางตัวอาจมีอายุยืนผิดปกติ)

ควายตัวผู้สามารถเป็นพ่อพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี ส่วนควายตัวเมียสามารถเป็นแม่พันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ควายจะตั้งท้องช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นฤดูที่อาหารอุดมสมบูรณ์ควายจะอุ้มท้องประมาณ 10.5 เดือน ก่อนและหลังคลอด 2-3 อาทิตย์ เจ้าของไม่นิยมใช้งานหนัก ปกติควายจะคลอดลูก 2 ตัว ในเวลา 3 ปี

การเลี้ยงกระบือ

การเลี้ยงกระบือ โดยมากเลี้ยงเป็นฝูงรวมกัน โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัว คุมฝูงตัวเมียได้ประมาณ 25-30 ตัว หากกระบือที่เลี้ยงไว้มีจำนวนมาก ก็จะแบ่งออกเป็นฝูงโดยใช้รั้วกั้น

วิธีแบ่งฝูงกระบือจะแบ่งตาม ฝูงพ่อกระบือ แบ่งเป็นคอก ๆ เพื่อป้องกันการต่อสู้กัน ฝูงแม่กระบือ ฝูงกระบือตัวผู้ที่ยังผสมไม่ได้ และฝูงกระบือตัวเมียที่ยังผสมไม่ได้

คุณค่าที่ (เกือบ) ถูกลืม

แต่ปัจจุบันคุณค่าของกระบือเริ่มลดน้อยลงไป โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม เพราะมีเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้แทนที่แรงงานของกระบือแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่อนุรักษ์และยังคงความนิยม “กระบือ” มากกว่าเครื่องจักรไม่ว่าเหตุผลใด ๆ ก็แล้วแต่กระบือถือเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ไม่ว่าในยุคไหน ๆ ก็ตามที ถึงแม้ปัจจุบันคุณค่าบางส่วนอาจลดลงไป ดูอย่างเจ้าบุญเลิศ ที่ได้กลายเป็นดาราดังไปแล้ว (แม้ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมกับความสำเร็จเพราะป่วยตายเสียก่อน

ประโยชน์มากมายของกระบือ

เนื้อกินได้ หนังรองนั่ง กระดูกไม่ต้องแขวนคอ

กระบือเป็นสัตว์ซึ่งตามภาษาสัตวศาสตร์ เรียกว่า Bos Bubalis มนุษย์รู้จักและเลี้ยงมาช้านานแล้วโดยกระบือตามลักษณะของวิชาสัตวศาสตร์มีดังนี้ เป็นสัตว์ขนาดหนักโครงร่างใหญ่ ร่างกายหนา ผิวหนังมีสีดำ สีเผือก สีด่าง มีขนเล็กน้อย หัวยาวแคบ มีเขาบนหัว หางสั้นและมีขนที่ปลายหาง กระบือพันธุ์นมที่ดีจะมีเต้านมใหญ่ หัวนมยาว น้ำนมมีสีขาว ไขมันสูงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยใช้ไถนา ลากของ ลากเกวียน เนื้อเป็นอาหารหนังก็นำมาทำเครื่องหนัง อีกทั้งยังเป็นพาหนะอีกด้วย



แหล่งอ้างอิง : หนังสือเรื่อง\"ควาย\"

โดย : นางสาว จิราภรณ์ คำแก้ว, ร.ร.พนัสพิทยาคาร, วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546