ลายเซ็น

ลายเซ็น

ตั้งแต่ในสมัยโบราณ การรับรองเอกสารทั้งข้าราชการ ขุนนาง พระมหากษัตริย์ไทยเราใช้ดวงตราประทับเหมือนกับจีน อินเดีย และญี่ปุ่น สำหรับข้าราชการจะแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ ตราหลวง และตราประจำตัว ขึ้นอยู่กับเอกสารที่ประทับ เพราะตราหลวงก็เป็นตราประจำตำแหน่ง ประจำกรม หรือประจำกระทรวง ซึ่งผู้มีสิทธิ์ครอบครองตราเหล่านี้จะเป็นผู้ที่รับตำแหน่งนั้นๆ เมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้วตราเหล่านี้จะเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งคนต่อไป สำหรับตราประจำตัวจะเป็นตราที่ประจำตลอดชีวิต เพราะเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป
สำหรับพระมหากษัตริย์ไทยเรานั้น ก็มีตราประทับที่เรียกว่า พระราชลัญจกร และใช้ดวงตรานั้นเรื่อยๆมา จนกระทั่งถึงสมัยที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ เนื่องจากพระองค์มีพระปรีชาสามารถในด้านภาษาอังกฤษมาก พระองค์จึงมีงานที่เกี่ยวกับการค้า ที่ต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศมาก พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพวกฝรั่งเซ็นชื่อมาท้ายตัวเอกสาร หรือหนังสือที่ส่งมาด้วย พระองค์จึงทรงเซ็นพระนามไปบ้าง โดยเซ็นเป็นภาษาอังกฤษว่า Fa Yai ซึ่งภาษาไทยก็คือ
ฟ้าใหญ่ และเมื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หรือสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ทรงเซ็นพระนามว่า S.P.P.M Mongut จึงถือได้ว่า รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ริเริ่มใช้ลายเซ็นขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเซ็นพระนามว่า Chulalongkorn ภาษาไทยคือ จุฬาลงกรณ์
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเซ็นว่า K.P.R.W.B.S. Mongol ภาษาไทยคือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
หลังจากที่มีการเซ็นลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆแล้ว ดวงตราประทับต่างๆก็ยังมีการใช้อยู่ ในบางครั้งจะมีการประทับตราแล้วเซ็นชื่อกำกับลงไปด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ ตามกรม กอง กระทรวงต่างๆ และในเวลาต่อมา มีผู้คิดค้นทำตรายางลายเซ็นขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากมีราชกิจที่ต้องเซ็นชื่อมาก คือ เจ้าพระยารัตนบดินทรฯ กระทรวงมหาดไทย

ที่มา : สิ่งแรกในเมืองไทย



โดย : นาย ปิยบุตร ปิยนามวาณิช, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 21 ธันวาคม 2544