นั่นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการปรับรื้อระบบบริหารจัดการด้านการศึกษาครั้งสำคัญของสังคมไทย เป็นยุทธศาสตร์ทางภูมิปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของระบบการศึกษาของชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางสังคมที่หลากหลายและรุนแรง สามารถพัฒนาการศึกษาให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกในปัจจุบัน
การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่หมักหมมมานานจำเป็นต้องใช้หลักการและวิธีการใหม่ๆ จึงจะแก้ไขได้สำเร็จ จากการศึกษาวิเคราะห์ของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษาไทย ที่ผ่านมา จะพบปัญหาสำคัญ 6 เรื่อง สรุปได้ ดังต่อไป
- ปัญหาด้านการบริหารจัดการศึกษา มีการบริหารแบบรวมอำนาจไว้ส่วนกลางมากเกินไป มีองค์กรที่มีภารกิจการทำงานที่ซ้ำซ้อน เกิดความล่าช้าในทางปฏิบัติ ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน
- ปัญหาด้านครู ไม่มีคนเก่งเข้ามาประกอบอาชีพครู ไม่ได้รับการส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ ครูขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
- ปัญหาด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรระดับต่างๆ ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงในชุมชน และก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางบริบทของสังคม
- ปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา มีระบบการจัดสรรงบประมาณที่ด้อยประสิทธิภาพแม้ว่าจะได้รับงบประมาณจัดสรรมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม
- ปัญหาด้านสื่อและเทคโนโลยี ปัจจุบัน แม้จะมีเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่สื่อต่างๆ กลับมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่น้อยมากและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- ปัญหาด้านระบบตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการประเมินตามนโยบาย ขาดการนิเทศให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาในการดำเนินงาน
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น จึงได้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมครั้งสำคัญเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของไทยจากกลุ่มคนทุกฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาของชาติ บังเกิดเป็นกฎหมายการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างและพัฒนาการจัดการศึกษาของไทยภายใต้นัยแห่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นั่นคือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา
การใช้เทคโนโลยีเพื่อการปฏิรูปการศึกษา