การบำรุงรักษาฮาร์ดดิสก์








             อย่างแรกที่เราไม่ควรจะลืมก็คือการ Defrag ซึ่งก็คือการจัดเรียงข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เสียใหม่เพื่อให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ก่อนที่จะถามว่าทำไมถึงต้อง Defrag เราควรจะรู้ว่าการทำงานของฮาร์ดดิสก์นั้นเป็นอย่างไร

ทุกครั้งที่เราเขียนข้อมูล ไม่ว่าจะด้วยการติดตั้งโปรแกรมใหม่ หรือว่าใช้คำสั่ง Save จากโปรแกรมใดๆ ก็ตาม หรือแม้แต่การดาวน์โหลดโปรแกรมจากอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการก๊อบปี้ข้อมูลลงไปในฮาร์ดดิสก์นั้น สิ่งที่เครื่อง คอมพิวเตอร์ต้องสั่งให้ฮาร์ดดิสก์ทำก็คือ เขียนข้อมูลเหล่านั้นลงไปบนพื้นที่ว่างบนฮาร์ดดิสก์นั่นเอง ซึ่งการเขียนข้อมูลของฮาร์ดดิสก์นั้นจะไม่เหมือนกับการเขียนข้อมูลในหนังสือหรือกระดาษอย่างที่เราทำกัน แต่โครงสร้างของไดรฟ์จะแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ เป็นบล็อกอย่างที่เรารู้จักกันคือคลัสเตอร์

ในการเขียนข้อมูลนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องเข้าไปจองพื้นที่เป็นคลัสเตอร์โดยที่ไม่สนใจว่าจะใช้เต็มพื้นที่หรือไม่ ถ้าข้อมูลมีขนาดใหญ่เกินไปก็จะใช้พื้นที่หลายๆ คลัสเตอร์ ซึ่งจะว่าไปแล้วในตอนแรกนั้นข้อมูลก็ยังคงจะเรียงกันอย่างเป็นระเบียบอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น แต่ว่าเมื่อมีการใช้งานหนักเข้าเรื่อยๆ โดยเฉพาะแอพพลิเคชันต่างๆ บนวินโดวส์จำเป็นต้องมีการเปิดไฟล์หลายๆ ไฟล์พร้อมกัน รวมทั้งมีการเขียนและลบไฟล์บ่อยๆ จะทำให้ข้อมูลกระจัดกระจายออกไป

ถึงตรงนี้อย่าเพิ่งงงครับว่าข้อมูลจะกระจายออกไปได้อย่างไร ลองคิดว่าเรามีข้อมูล A ขนาด 5 หน่วย B 3 หน่วยและ C 2 หน่วย ซึ่งตอนแรกไฟล์ทั้ง 3 ยังเรียงกันอยู่ตามปกติ แต่หลังจากที่เราใช้งานแล้ว เราไปลบ ไฟล์ B ออกไป พื้นที่ 3 บล็อกที่เคยใช้เก็บข้อมูล B ตั้งแต่บล็อกที่ 6 ถึง 8 จะว่างลง ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการเขียนไฟล์ D ขนาด 5 หน่วยลงไป D จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกขนาด 3 หน่วยไปแทนที่ B และที่เลือกจะต่อจาก C ออกมา จะเห็นว่าข้อมูลของ D นั้นจะไม่ต่อเนื่องกัน หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้ามี 3 ไฟล์แรกอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ได้ลบไฟล์ B ออกไปแต่เราแก้ไขไฟล์ A จนมีขนาด 7หน่วย ข้อมูล 5 หน่วยแรกจะยังคงอยู่ที่เดิม ส่วนที่เหลือก็จะกระจายไปอยู่อีกที่หนึ่ง

นั่นเป็นตัวอย่างที่ผมยกมาให้เห็นว่า ทำไมข้อมูลถึงกระจายออกไปได้เอง ซึ่งเมื่อ มีข้อมูลที่กระจายออกไปมากๆ เข้า ผลก็คือฮาร์ดดิสก์จะต้องใช้เวลาเข้าถึง และค้นหาข้อมูลมากขึ้น เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่ติดกันอีกต่อไป จึงส่งผลให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานหนักโดยไม่จำเป็นและยังทำงานช้าลงอีกด้วย สุดท้ายแล้วสิ่งที่ยูสเซอร์จะพบก็คือครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งระบบจะทำงานช้าลงมาก อาการนี้สังเกตได้ไม่ยาก ถ้ามีเสียงฮาร์ดดิสก์ทำงานมากกว่าปกติ นั่นก็เป็นการบอกเป็นนัยๆ แล้วว่า เราควรจะทำการ Defrag ข้อมูลได้แล้ว

ถ้าหากไม่ต้องการพึ่งซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ นั้นก็ให้ใช้ Defrag ของวินโดวส์ โดยเข้าไปที่ Start>Program> Accessories>System Tools>Disk Defragmenter หรืออาจจะคลิ้กขวาที่ไอคอนของฮาร์ดดิสก์ใน My Computer แล้วเลือกที่ Properties จากนั้นเลือกที่แท็บ Tools แล้วจึงคลิ้ก ที่ปุ่ม Defragment Now โดยก่อนอื่นเราจะต้องปิดแอพพลิเคชันที่ทำงานอยู่ให้หมดเสียก่อน จากนั้นให้เลือกไดรฟ์ที่ต้องการ แล้วสั่งให้โปรแกรมทำงาน

สำหรับลูกเล่นของโปรแกรมไม่มีอะไรมากนัก ก่อนใช้งานถ้าหากปิดฟีเจอร์ Screen Saver ของวินโดวส์ได้ก็ควรจะปิด เพื่อไม่ให้ทั้งสองโปรแกรมมีผลต่อกัน ส่วนการตั้งเวลาการทำงานล่วงหน้าหรือฟีเจอร์เพิ่มเติมอื่นๆ นั้นจำเป็นต้องใช้ Maintenance Wizard, Scheduled Task หรือว่า Microsoft Plus ช่วยจึงจะทำได้

อีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการ Defrag ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ก็คือ Diskeeper (www.execsoft.com) ในการทำงานทั่วๆ ไปนั้นค่อนข้างจะเหมือนกับของวินโดวส์ แต่โปรแกรมใช้งานได้ง่ายกว่า และยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า โดยที่โปรแกรมถูกออกแบบมาให้เหมาะในการใช้งานทั้งเครื่องพีซีธรรมดาหรือแม้แต่บนเน็ตเวิร์กก็ตาม

นอกจากนั้นโปรแกรมยังมีฟีเจอร์ สำหรับการตั้งเวลาทำงานล่วงหน้ามาให้อีกด้วย เราจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการ Defrag อีกต่อไป ส่วนฟีเจอร์หนึ่งที่น่าสนใจของโปรแกรมก็คือ Frag Guard ซึ่งจะคอยป้องกันการเกิด fragmentation หรือข้อมูลไม่ต่อเนื่องใน MFT( Master File Table) ของวินโดวส์เอ็นที และ 2000 รวมทั้งยังสามารถทำการ Defrag ข้อมูลจากหลายๆ ไดรฟ์พร้อมกันได้อีกด้วย

ส่วนฟีเจอร์การทำงานบนเน็ตเวิร์กนั้น สามารถควบคุมและสั่ง งานให้โปรแกรมจัดการกับไดรฟ์บนเน็ตเวิร์กได้โดยตรง ไม่ต้องกังวลว่าระบบรักษาความปลอดภัยของระบบจะคอยป้องกันไม่ให้ใช้งาน และไม่ต้องคอยคอนฟิกโปรแกรมบ่อยๆ อีกด้วยเพราะเมื่อคอนฟิกโปรแกรมเสร็จครั้ง แรก โปรแกรมก็พร้อมใช้งานได้ทันที

ส่วนอีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ PerfectDisk 2000 (www.raxco. com) ซึ่งการทำงานไม่ค่อยต่างกับ Diskeeper มากนัก เพราะโปรแกรมสามารถตั้งเวลาการทำงานล่วงหน้าได้เช่นกัน และยังยอมให้ Defrag ไดรฟ์บนเน็ตเวิร์กหลายๆ ไดรฟ์พร้อมกันได้อีกด้วย ซึ่งทำให้การทำงานบนเน็ตเวิร์กสะดวกขึ้นมาก เหมาะสำหรับผู้บริหารระบบที่จะนำไปใช้งาน

นอกจากฟีเจอร์ทั่วๆ ไปแล้ว PerfectDisk ยังมีฟีเจอร์ระดับไฮเอนด์มาให้อีกด้วย ทำให้โปรแกรมหนีจากโปรแกรม Defrag ธรรมดาไปไกลทีเดียว โดยยังคงให้ความสะดวกและใช้งานง่ายเอาไว้ด้วย ซึ่งโปรแกรมสามารถ Defrag ข้อมูลได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ข้อมูลทุกชนิด รวมไปถึง MFT และ paging files บนวินโดวส์ทุกแพลตฟอร์ม (พื้นที่บนฮาร์ดดิสก์ที่จองเอาไว้สำหรับแบ็กอัพข้อมูลที่ยู่ในหน่วยความจำหลัก) และยังสนับสนุน RAID (redundant array of independent disks ซึ่งเป็นวิธีแบ็กอัพ ที่จะทำให้หลายๆ ไดรฟ์ทำงานร่วมกันได้) และ volume sets (ไดรฟ์หลายๆ ไดรฟ์ที่ทำงานร่วมกัน โดยมองเป็นแหล่งเก็บข้อมูลส่วนเดียวกัน) รวมไปถึงโปรแกรมยังสามารถสั่ง Shutdown เครื่องเวิร์กสเตชันและเซิร์ฟเวอร์จากเครื่องรีโมทเพื่อใช้ฟีเจอร์ขั้นสูงในการ Defrag ได้อีกด้วย

จะเห็นว่าฟีเจอร์ส่วนใหญ่ของ PerfectDisk นั้น เหมาะสมกับการทำงานในระบบเน็ตเวิร์กหรือว่าผู้บริหารระบบนำไปใช้งานมากกว่า ถ้าหากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ฟีเจอร์พวกนี้เราอาจจะมองที่ Diskeeper อาจจะดีกว่า เพราะโปรแกรมก็ซับซ้อนน้อยกว่าเช่นกัน

ประการต่อมาคือการแบ็กอัพ จะว่าไปแล้วการแบ็กอัพข้อมูลนี่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับการบำรุงรักษาฮาร์ดดิสก์โดยตรงเท่าไหร่นัก แต่จะมีผลเกี่ยวเนื่องมา ลองคิดดูว่าการทำงานอะไรก็ตามล้วนแต่มีผลต่อการทำงานของฮาร์ดดิสก์ทั้งนั้น หากข้อมูลที่อยู่บนฮาร์ดดิสก์เป็นข้อมูลที่สำคัญมาก เราคงไม่อยากให้งานนั้นต้องมาเสี่ยงกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่เราควรจะต้องแบ็กอัพข้อมูลกันบ่อยๆ และบ่อยครั้งที่เราต้องการตรวจสอบความเสียหายของฮาร์ดดิสก์หรือว่าทำการ Defrag แล้วอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะโปรแกรมเหล่านี้จะเข้าไปยุ่งกับข้อมูลทั้งหมดบนฮาร์ดดิสก์ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือแบ็กอัพข้อมูลเอาไว้นั่นเอง วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การก๊อบปี้ใส่แผ่นดิสเก็ตต์ หรือว่านำไปไว้ในฮาร์ดดิสก์อีกตัวหนึ่งแทน หรืออาจจะใช้โปรแกรมอย่าง Winzip หรือโปรแกรมบีบอัดข้อมูลมาช่วยก็ได้ แต่ถ้าต้องการ การแบ็กอัพข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ก็ควรจะใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ออกแบบมาสำหรับแบ็กอัพโดยตรงจะดีกว่า อย่างเช่น เทปแบ็ก-อัพ หรือว่าไดรฟ์ซีดีรอมแบบเขียนได้

สำหรับโปรแกรมแบ็กอัพนั้นวินโดวส์มีโปรแกรมแบ็กอัพมาให้ด้วยเช่นกัน โดยจะอยู่ใน System Tools เช่นเดียวกับโปรแกรม Defragmenter การทำงานนั้นเราสามารถกำหนดระดับการบีบอัดข้อมูลได้ รวมทั้งยังสามารถกำหนดพาสส์เวิร์ดให้กับแบ็กอัพได้อีกเช่นกัน

ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ ก็ไม่มีอะไรเด่นมากนัก ที่ผมชอบที่สุดคือมีฟีเจอร์แบ็กอัพ Registry ของวินโดวส์ให้ด้วย ซึ่งมีประโยชน์มากในกรณีที่วินโดวส์เสียหายหรือมีคอนฟิกผิดพลาด ทำให้ระบบทำงานไม่ถูกต้อง แต่โดยส่วนตัวแล้วผมยังมีปัญหาเล็กน้อยที่โปรแกรมไม่ยอมมองไดรฟ์ CD-R เป็นสื่อในการแบ็กอัพข้อมูลเหมือนโปรแกรมอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถแบ็กอัพข้อมูลลงบนแผ่นซีดีรอมได้ แต่โปรแกรมก็สามารถแบ็กอัพลงบนเน็ตเวิร์กไดรฟ์ได้ดี

อย่างที่สามที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ตรวจสอบฮาร์ดดิสก์บ่อยๆ โดยการใช้โปรแกรม ScanDisk หรือโปรแกรมอื่นๆ ที่ทำงานแบบเดียวกัน เพราะว่าเมื่อมีการอ่านหรือเขียนข้อมูลบ่อยๆ เข้าอาจจะสร้างความเสียหายกับตัวฮาร์ดดิสก์หรือข้อมูลที่อยู่บนฮาร์ดดิสก์ได้ โดยเฉพาะเมื่อเครื่องแฮงก์จะเกิดความเสียหายกับข้อมูลอย่างแน่นอน ซึ่งโดยปกติแล้ววินโดวส์จะมีระบบสำหรับตรวจสอบเอาไว้ให้อยู่แล้ว

จะเห็นว่าทุกครั้งหลังจากเครื่องแฮงก์หรือว่าไม่ได้สั่ง Shutdown ตามปกติ เมื่อบูตเครื่องขึ้นมาอีกครั้ง วินโดวส์จะเรียก ScanDisk ขึ้นมาทำงานเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็ช่วยลดความวุ่นวายได้อีกมาก แต่หากจะรอให้วินโดวส์คอยทำงานเฉพาะเวลาที่เครื่องแฮงก์นั้นดูเหมือนจะเสี่ยงเกินไป เราจึงควรรันโปรแกรม ScanDisk บ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เผื่อว่ามีปัญหาที่เรายังไม่ทราบจะได้แก้ไขได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหายกับระบบ

นอกจาก ScanDisk ที่มากับวินโดวส์แล้วก็อาจจะดูที่โปรแกรมอื่นๆ อย่างในชุดของ Norton Utility ก็มีโปรแกรมที่คอยจัดการให้เช่นกัน ซึ่งผู้อ่านหลายคนอาจจะชอบใช้โปรแกรมพวกนั้นมากกว่า แต่โดยส่วนตัวผมแล้วคิดว่าโปรแกรมที่มีมาให้ในชุดของวินโดวส์ก็พอใช้งานได้ในระดับหนึ่ง ถ้าไม่ต้องการฟีเจอร์ที่หวือหวามากนัก ทูลต่างๆ ที่มีให้ก็มีความสามารถมากพออยู่แล้ว

ยูทิลิตี้ Uninstall ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกัน ถึงจะไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากมีติดเอาไว้ก็ช่วยงานได้มากเช่นกัน สาเหตุเนื่องมาจาก เมื่อเราติดตั้งโปรแกรมลงบนฮาร์ดดิสก์แล้ววันหนึ่งอาจจะต้องการลบมันออกไป แต่จะทำอย่างไรถ้าหากไม่มีโปรแกรมสำหรับยกเลิกการติดตั้ง (รวมทั้งที่มีอยู่บนวินโดวส์ด้วย) หากไม่มีโปรแกรม ยกเลิกการติดตั้ง สิ่งที่ต้องทำก็คือ จะต้องทราบว่าโปรแกรมนั้นทำอะไรกับระบบไว้บ้าง แล้วจึงเข้าไปตามแก้ให้ระบบกลับสู่สภาวะเดิมให้มากที่สุด ตั้งแต่ไฟล์หรือไดเรกทอรี หรือว่าไฟล์ในไดเรกทอรี system รวมไปถึงค่า registry ที่โปรแกรมเขียนเอาไว้ และที่สำคัญคือเมื่อลบออกไปแล้วจะต้องไม่ส่งผลต่อโปรแกรมอื่นที่ติดตั้งเอาไว้บนเครื่องอีกด้วย

โปรแกรมยกเลิกการติดตั้งนั้นจะช่วยทำงานต่างๆ เหล่านี้ให้ภายในเวลาไม่กี่วินาที เราก็สามารถลบโปรแกรมที่ไม่ต้องการออกจากระบบได้โดยที่ไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้หรือทิ้งไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโปรแกรมจะบันทึกข้อมูลของระบบก่อนและหลังการติดตั้งแอพพลิเคชันเอาไว้ แล้วดูว่าในการติดตั้งนั้นมีการทำอะไรกับระบบไปบ้าง โปรแกรมจึงบันทึกเอาไว้ และเมื่อเราต้องการลบแอพพลิเคชันออกจากระบบ โปรแกรมเพียงแค่อ่านไฟล์ที่เขียนเอาไว้แล้วแก้ไขกลับสู่สภาพเดิมนั่นเอง นั่นเป็นฟีเจอร์หลักๆ ของโปรแกรม Uninstall ซึ่งแต่ละตัวจะมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่แตกต่างกัน

สำหรับผู้ใช้วินโดวส์นั้นจะเห็นว่ามี Add/Remove Program มาให้ ซึ่งบ่อยครั้งที่วินโดวส์โดนแอพพลิเคชันที่ติดตั้งหลอกเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถลบออกไปได้หมด เช่น หากเราติดตั้งแชร์แวร์ที่มีอายุการใช้งาน 15 วัน เมื่อครบ 15 วันแล้วจะไม่สามารถใช้งานได้อีก แม้ว่าจะลบแล้วติดตั้งใหม่ก็ตาม เพราะแอพลิเคชันพวกนี้จะเขียนข้อมูลบางส่วนเอาไว้โดยไม่ยอมบอกให้วินโดวส์ทราบ เพื่อรักษาสิทธิของบริษัทหรือผู้เขียนเอาไว้ ดังนั้นถ้าจะลบออกให้หมดจริงๆ ก็อาจจะต้องพึ่งยูทิลิตี้ Uninstall ตัวอื่นแทน อย่างเช่น Uninstall 2000 (www.ashampoo. com) ซึ่งนอกจากจะมีฟีเจอร์ Uninstall ธรรมดาแล้ว ยังมีความสามารถในการติดตามและแสดงสภาวะของระบบในช่วงเวลาต่างๆ ออกมาได้อีกด้วย

เครื่องมือชุดนี้จะคอยติดตามและรายงานสิ่งต่างๆ ที่พบ แล้วให้คุณเปรียบเทียบด้วยว่าก่อนและหลังการติดตั้งมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง แน่นอนว่ารวมสิ่งที่โปรแกรมแชร์แวร์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เราทราบด้วยเช่นกัน แต่ด้วยฟีเจอร์เด็ดๆ เหล่านี้ที่ทำให้ Uninstall 2000 เป็นโปรแกรมที่ซับซ้อนมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า มันจะเป็นโปรแกรมที่ใช้งานยากตามไปด้วย ถ้าคิดจะลองนำมาใช้งานก็สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ได้เลย ซึ่งในเวอร์ชันทดลองนั้นสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบเหมือนในเวอร์ชันจริง เพียงแต่จะมีแบนเนอร์ติดมาด้วยเท่านั้น

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงก็คือเรื่องพาร์ทิชัน คิดว่า ส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำนี้กันมาแล้ว พาร์ทิชันจะเป็นพื้นที่ใดๆ บนดิสก์ที่ถูกแบ่งเอาไว้เป็นส่วนๆ นั่นเอง ปกติแล้วฮาร์ดดิสก์โดยทั่วไปจะแบ่งเอาไว้ให้มีเพียงพาร์ทิชันเดียว เพื่อความสะดวกในการใช้งาน สำหรับบางเครื่องแล้ว การแบ่งออกเป็นหลายๆ พาร์ทิชัน อาจจะเหมาะสมกว่า ทั้งช่วยทำให้สามารถใช้งาน และจัดสรรพื้นที่เก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่า เมื่อเราจะทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับพาร์ทิชันนั้น จะส่งผลให้ข้อมูลที่อยู่บนพาร์ทิชันสูญหายไปด้วย หรือจำเป็นจะต้องฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ใหม่ ซึ่งปัญหานี้เองที่ทำให้หลายๆ คนไม่อยากเข้าไปยุ่งกับพาร์ทิชันมากนัก แต่ในปัจจุบันนี้มียูทิลิตี้หลายตัว ที่ช่วยจัดการกับพาร์ทิชันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ส่งผล ต่อข้อมูลที่มีอยู่เดิมบนพาร์ทิชัน อย่าง PowerQuest PartitionMagic (http://www.powerquest.com) ซึ่งนอกจาก จะช่วยสร้างพาร์ทิชันใหม่ได้ง่ายแล้ว โปรแกรมยังช่วยจัดการการบูตในหลายๆ แบบเพื่อสนับสนุนการทำงานแบบมัลติโอเอสได้อีกด้วย ผมว่านี่เป็น ข้อได้เปรียบอย่างมากในการทำงานกับระบบ เพราะนอกจากจะทำงานได้ในหลายๆ สภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากระบบใดระบบหนึ่งได้อีกด้วย

นอกจากนี้โปรแกรมยังสามารถ กำหนดพาสเวิร์ดในการเข้าสู่ระบบต่างๆ ได้ แต่จุดเด่นจริงๆ ของโปรแกรมอยู่ที่ความสามารถในการปรับเปลี่ยนขนาดพาร์ทิชัน ในขณะที่กำลังใช้งานอยู่ได้ (on-the-fly) ซึ่งทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูลที่มีอยู่บนพาร์ทิชันอีกต่อไป อีกทั้งยังมีส่วนที่คอยตรวจสอบความถูกต้องมาให้ด้วย ดังนั้นโอกาสที่ข้อมูลจะเสียหายจึงนับได้ว่ามีน้อยมาก

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่เรา อาจมองข้ามไป หากปล่อยไว้นานวัน ก็จะกลายเป็นปัญหาที่รอเวลาและโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งก็มักจะเป็นเวลาที่คุณต้องการใช้ข้อมูลที่อยู่ในเครื่อง และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มักจะเกิดกับข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้อีกด้วย (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม) ในขณะที่ข้อมูลอื่นที่ไม่ต้องการใช้นั้นกลับไม่เสียหาย

อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ป้องกันเอาไว้ก่อน เพื่อลดช่องทางที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ 



แหล่งอ้างอิง : http://www.arip.co.th

โดย : นาย อาทิตย์ แซ่ก่อง, บริษัท ทรินิตี้ เน็ตเวิร์ก จำกัด, วันที่ 13 พฤศจิกายน 2545