ลักษณะเฉพาะของการนวดไทย

ลักษณะเฉพาะของการนวดไทยประกอบไปด้วย

การกด

           การกดมักจะใช้นิ้วแม่มือกดลงที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ให้เลือดถูกขับออกจากหลอดเลือดบริเวณที่กด และเมื่อลดแรงกดเลือดจะพุ่งออกมาเลี้ยงในตำแหน่งที่กดมากขึ้น ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เร็วขึ้น

           ข้อควรระวังของการกด  คือ ไม่ควรกดนานเกินไปหรือหนักเกินไปจะทำให้เกิดรอยช้ำเขียวในบริเวณที่กดนั้น และอาจทำให้เกิดอันตรายกับหลอดเลือดฝอยได้

การคลึง

           การคลึงคือการใช้นิ้วหัวแม่มือ หรือสันมือ ออกแรงกดวนให้กล้ามเนื้อบริเวณที่คลึงเคลื่อนเป็นวงกลม

           ข้อควรระวัง  คือ ไม่ควรคลึงรุนแรงเกินไปอาจทำอันตรายกับหลอดเลือดบริเวณที่คลึงได้หรืออาจทำให้เกิดความรู้สึกเสียวแปลบ อาจทำให้เส้นประสาทอักเสบได้

การบีบ

           การบีบคือการจับกล้ามเนื้อให้เต็มฝ่ามือแล้วออกแรงบีบที่กล้ามเนื้อเป็นการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้าและลดการเกร็งของกล้ามเน้อลง

           ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้แรงบีบมากเกินไปหรือนานเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อช้ำ

การดึง

           การดึงเป็นการออกแรงเพื่อยืดเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อหรือเพื่อยืดพังผืดของข้อต่อ เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นทำงานได้ตามปกติ ในการดึงข้อต่อมักจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ แสดงว่าการดึงนั้นได้ผลและไม่ควรดึงต่อไปอีก เสียงลั่นในข้อต่อเกิดจากอากาศที่ซึมเข้าข้อต่อถูกไล่ออกจากข้อต่อ สำหรับในกรณีที่ไม่ได้ยินเสียงไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดเสียง

           ข้อควรระวัง คือไม่ควรใช้แรงมากเกินไป หรือฝืนดึง เมื่อมีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นหรือพังผืด ควรรอให้อากาบาดเจ็บในบริเวณดังกล่าวทุเลาลงอย่างน้อย 14 วัน จึงจะทำการดึงได้

การบิด

           การบิดเป็นการออกแรงเพื่อหมุนข้อต่อหรือกล้ามเนื้อเส้นเอ็นให้ยืดออกด้านขวาง

           ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้แรงมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรืออักเสบบริเวณนั้น ๆ ได้

การดัด

           การดัดเป็นการออกแรงเพื่อให้ข้อต่อที่ติดขัดเคลื่อนไหวได้ตามปกติการดัดต้องออกแรงมาก ดังนั้นควรทำอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงอายุของผู้จะรับการดัดด้วยว่ากล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นหรือไม่ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตไม่ควรทำการดัด เพราะกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง อาจจะทำให้ข้อต่อเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมได้ และไม่ควรดัดเมื่อมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ

การทุบหรือการสับ

           การทุบหรือการสับเป็นการออกแรงกระตุ้นกล้ามเนื้ออย่างเป็นจังหวะผู้ที่ทำการนวดมักจะใช้การทุบหรือการสับกับการนวดบริเวณหลัง เพื่อช่วยอาการปวดหลัง ปวดคอ หรือช่วยในการขับเสมหะเวลาไอ

           ข้อควรระวัง คือต้องไม่ใช้แรงมากเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อช้ำได้

การเหยียบ

           การเหยียบเป็นอีกวิธีที่นิยมทำกันมาก การนวดภายในครอบครัวนิยมให้เด็กขึ้นไปเหยียบหรือเดินอยู่บนหลัง ซึ่งต้องระวังมากถ้าผู้ที่เหยียบมานำหนักมาก อาจทำอันตรายกับกระดูกสันหลัง หรือกระดูกซี่โครงได้


ที่มา : พิศิษฐ เบญจมงคลวารี : นวดไทยเพื่อสุขภาพ เล่ม 1 : กรุงเทพ ฯ : หมอชาวบ้าน, 2545

โดย : นางสาว พรวิจิตร ชาติชำนาญ, โรงเรียนคอนสารวิทยาคม, วันที่ 10 พฤศจิกายน 2545