ฝนดาวตก

ต้นกำเนิดของฝนดาวตกส่วนมากมาจากดาวหาง แต่ละรอบของดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์จะปล่อยเศษซากชิ้นส่วนเล็ก ๆ จำนวนมากมายเคลื่อนที่อยู่ในวงโคจรของดาวหางเอง เรียกว่า สายธารอุกกาบาต (Meteor Stream) ถ้าวงโคจรของโลกและวงโคจรของดาวหางตัดกัน ณ จุดหนึ่งในอวกาศ เมื่อโลกเข้าไปอยู่ ณ จุดตัดวงโคจรนั้น ในช่วง 2 - 3 วันในแต่ละปี ก็เท่ากับว่าโลกผ่านเข้าไปในสายธารอุกกาบาตนั่นเอง อุกกาบาตเหล่านั้นจึงตกเข้าสู่โลก มีฝนดาวตกชุดเด่น ๆ เพียงชุดเดียวที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากดาวหาง คือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ (Geminid Shower ) โดยที่วงโคจรของโลกตัดกับวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 Phaethon จึงเป็นฝนดาวตกที่เกิดจากชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย

เนื่องจากเศษซากชิ้นส่วนของฝนดาวตกเคลื่อนที่ขนานกันสู่โลกด้วย ความเร็วเท่า ๆ กัน สังเกตจากโลกจะเห็นเป็นเสมือนว่า ฝนดาวตก มีจุดศูนย์กลางร่วมกันจุดหนึ่งตกลงมาสู่โลกจุดศูนย์กลางดังกล่าว เกิดจากผลจากการสังเกตระยะไกล (Perspective) เหมือนเห็นรางรถไฟ ที่ขนานกันมีจุดร่วมจุดเดียวกันหากมองไปไกล ๆ ฝนดาวตกชุดใดดูเสมือน มีที่มาจากจุดร่วมที่อยู่ในกลุ่มดาวใด จะเรียกฝนดาวตกชุดนั้นตามชื่อกลุ่มดาวนั้น

จำนวนดาวตกของฝนดาวตกแต่ละชุดจะมีมากมีน้อยขึ้นอยู่กับสายธารอุกกาบาตแต่ละชุดมีเศษซากชิ้นส่วนมากหรือน้อยและยังขึ้นอยู่กับ ปัจจัยอีกหลายอย่างเช่น องค์ประกอบเบื้องต้นของดาวหางดวงแม่ สายธารอุกกาบาตมีความหนาแน่น ของเศษชิ้นส่วนมากหรือน้อย (เป็นกระจุกหรือกระจาย) และโลกของเราขณะเข้าไปตัดกับวงจรของ ดาวหางพบกับสายธารอุกกาบาตนั้น เข้าไปใกล้ใจกลางของสายธารอุกกาบาตหรือไม่ เช่น ฝนดาวตกชุด เทาริดส์ (Taurids) มีประมาณ 10 - 15 ครั้งต่อชั่วโมงที่จุดสูงสุด ขณะที่เปอร์ซิดส์ (Perseids) มีถึง 40-50 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งได้ค่าเฉลี่ยดาวตกประมาณเกือบ 1 ครั้งต่อนาที




โดย : นาย ชาญกิจ อนันต์โชติกุล, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 9 ธันวาคม 2544