เทคนิคแก้ไขปัญหา
วิธีการติดตั้งโอเอสสองตัวบนเครื่องหนึ่งเครื่อง คงผ่านหูผ่านตากันไปบ้างแล้ว โดยการแบ่งเนื้อที่บนฮาร์ดดิสก์ออกเป็นสองส่วน หรือที่รู้จักกันในนามการแบ่งพาร์ทิชันนั่นเอง   เทคนิคแก้ไขปัญหา

     เนื้อที่ส่วนแรกจะเป็นวินโดวส์ ส่วนที่สองก็จะเป็นลีนุกซ์ ขออนุญาตไม่กล่าวรายละเอียดนะครับ เอาเป็นว่าเมื่อติดตั้งโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว สามารถทำงานได้ทั้งสองระบบปฏิบัติการเป็นอย่างดีเรื่อยมา :) โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างลงตัว

แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ระบบปฏิบัติการวินโดวส์จำเป็นจะต้องลาจากไปด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะต้องการติดตั้งใหม่ หรือเปลี่ยนไปเป็นรุ่นใหม่ตามท้องตลาดที่เปลี่ยนไปบ่อยๆ ครั้ง (บางครั้งตามไม่ทัน) ทำให้ต้องมีการติดตั้งวินโดวส์ตัวใหม่

วิธีการติดตั้งโปรแกรมวินโดวส์ก็ทำตามปกติ คือใส่แผ่นซีดีรอมวินโดวส์ ที่จะทำการติดตั้งลงไป แล้วทำการบูตเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่จากซีดีรอม จากนั้นทำการติดตั้งไปตามคำแนะนำจนเสร็จสิ้น หลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สามารถเข้าไปสู่ระบบปฏิบัติการและใช้งานโปรแกรมวินโดวส์ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่! ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ล่ะ มันหายไปไหน ? อย่างว่าละครับ โอเอสทั้งสองมักจะชิงความเป็นใหญ่กันอยู่เสมอ (สงสัยจะดูหนังกำลังภายในมากไปหน่อย)

ย้อนกลับดูที่มากันอีกสักนิด เมื่อครั้งแรกการแบ่งฮาร์ดดิสก์จะทำเป็น 2ส่วน ส่วนแรกติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ก็จะทำการบูตระบบไปที่ตำแหน่งเริ่มต้นของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Master Boot Record :MBR) ต่อมามีการติดตั้งระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ทะเลลงไปเพิ่ม ระบบก็จะตรวจสอบและติดตั้งตัวจัดการในการบูตระบบของลีนุกซ์ (อาจเป็น Lilo หรือ Grub ทั้งสองตัวเป็นโปรแกรมควบคุมการบูตระบบปฏิบัติการของลีนุกซ์เหมือนกัน หลายคนแนะนำให้ใช้ Grub โดยบอกว่ามีการพัฒนาให้ทำงานได้ดีขึ้น)

เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะทำหน้าที่เป็นเสมือนเมนูในการเลือกระบบปฏิบัติการ โดยทุกครั้งเมื่อมีการ บูตเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ ตัวจัดการในการบูตระบบจะทำงานก่อน (หมายถึงการกำหนดให้เมนูทำงานก่อนที่จะเข้าสู่ระบบปฏิบัติการใดๆ) หลังจากเลือกระบบปฏิบัติการจากเมนูแล้ว ระบบจัดการจะทราบตำแหน่งเริ่มที่จะทำการบูต แล้วจึงทำการบูตในตำแหน่งที่ถูกต้อง ก็จะได้ระบบปฏิบัติการที่ถูกตามที่ได้เลือกไว้

เอาละครับ มาดูต่อเลยว่าหลังจากการติดตั้งวินโดวส์ใหม่แล้วแต่ไม่สามารถบูตระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้ ในขั้นแรกให้ทำการบูตระบบลีนุกซ์ผ่านแผ่นดิสก์ (แนะนำมือใหม่ให้ทำไว้ขณะทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการลีนุกซ์) เมื่อเข้าสู่หน้าต่างการบูตลีนุกซ์จะเห็นว่าขั้นตอนจะไปหยุดรอที่เครื่องหมาย boot: ให้ป้อนคำสั่ง “linux single” (หากไม่มีให้ใช้วิธีการบูตจากซีดีรอมสำหรับติดตั้งโปรแกรมลีนุกซ์ โดยบูตแบบ Single)

Boot: linux single <Enter>

คำสั่งข้างต้นเป็นการล็อกอินเข้าสู่ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ในลักษณะ Console หรือ Single mode โดยจะไปรอที่เครื่องหมาย sh-2.05# ให้ป้อนคำสั่ง “fdisk /dev/hda” (ข้อควรระวัง: ขณะนี้คุณมีสิทธิ์เป็นผู้ดูแลระบบหรือ root ควรระมัดระวังหากมีการแก้ไขไฟล์ใดๆ )

sh-2.05# fdisk /dev/hda <Enter>

คำสั่งนี้จะเป็นคำสั่งเข้าสู่โปรแกรม fdisk ที่ใช้สำหรับจัดการพาร์ทิชันของฮาร์ดดิสก์ คุณก็จะได้เครื่องหมายใหม่เป็น Command (m for help): (ดังรูปที่ 1)

กดปุ่ม “m <Enter>” เพื่อแสดงคำสั่งต่างๆ ที่ใช้ในการกำหนดพาร์ทิชัน (ดังรูปที่ 2)

ถามว่าทำไมถึงใช้ fdisk ในลีนุกซ์ คำตอบก็คือ เพราะลีนุกซ์มองเห็นระบบไฟล์ต่างๆ ได้มากกว่า

เมื่อทราบถึงคำสั่งต่าง ๆ แล้วมาสั่งให้แสดงตารางของพาร์ทิชัน โดยการกดปุ่ม “p <Enter>” (ดังรูปที่ 3)

ในข้อมูลจากรูปที่ 3 แต่ละคอลัมน์ก็จะมีความหมายดังนี้

Device หมายถึง ชื่อของพาร์ทิชันต่างๆ ที่ลีนุกซ์อ้างอิง

Boot คือเครื่องหมาย bootable flag หากพาร์ทิชันใดมีเครื่องหมาย * จะหมายถึงพาร์ทิชันนั้นมีความสามารถในการบูตระบบได้

Start, End, Block จะแสดงตำแหน่งและขนาดของแต่ละพาร์ทิชัน

Id หมายถึง รหัสของพาร์ทิชันที่ใช้ในลีนุกซ์ (เลขฐาน 16)

System จะแสดงความหมายของ Id

จากรูปที่ 3 สังเกตดูจะเห็นว่าในพาร์ทิชันที่ 6 (/dev/hda6) จะไม่มีเครื่องหมาย * แสดงว่าไม่ได้ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นบูตพาร์ทิชัน จะมีก็แต่พาร์ทิชันที่ 1 เท่านั้นที่มีเครื่องหมาย * ทำให้การบูต ทุกครั้งจะเข้าสู่วินโดวส์ เพียงระบบเดียว

ให้ทำการกำหนดให้ ในพาร์ทิชัน ที่ 6 (/dev/hda6) ทำหน้าที่เป็นบูตพาร์ทิชัน โดยการป้อนคำสั่ง “a <enter>” และป้อนเลขพาร์ทิชัน 6 “6 <enter>” เมื่อกดปุ่ม “p <Enter>” จะเห็นว่ามีเครื่องหมาย * ปรากฏอยู่หน้าพาร์ทิชันที่ 6 (/dev/hda6) (ดังรูปที่ 4)

จากนั้นพิมพ์คำสั่ง “w <enter>” เพื่อบันทึกค่าที่ได้กำหนด แล้วออกจากโปรแกรม fdisk (ดังรูปที่ 5)

เมื่อกำหนดพาร์ทิชันเรียบร้อยแล้วให้ทำการติดตั้งโปรแกรมสำหรับทำหน้าที่จัดการในการบูตระบบ (ในที่นี้เลือก Grub boot loader) โดยใช้คำสั่ง “grub-install /dev/hda” (ดังรูปที่ 6)

จากนั้นคุณสามารถตรวจสอบค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของโปรแกรม Grub โดยการป้อนคำสั่ง “cat/etc/grub.conf” (ดังรูปที่ 7)

มาดูความหมายของแต่ละบรรทัดที่สำคัญในไฟล์ grub. conf :

Default หมายถึง หมายเลขที่กำหนดให้ระบบปฏิบัติการใดเป็นค่าเริ่มต้น หากถึงเวลาที่กำหนดแต่ไม่มีการเลือกระบบปฏิบัติการ จะทำการเข้าสู่ระบบปฏิบัติการที่กำหนดค่าเป็นค่าเริ่มต้นอัตโนมัติ (ในรูปที่ 7 หากกำหนดเป็น 0 จะบูตเข้าสู่ลีนุกซ์ TLE แต่หากกำหนดเป็น 1 จะบูตเข้าสู่วินโดวส์)

Time หมายถึง เวลาที่กำหนดให้รอการเลือก หน่วยเป็น 1/100 วินาที

Splashimage เป็นตำแหน่งที่เก็บไฟล์ Image ที่ใช้ในการบูตระบบ

Title หมายถึง ป้ายชื่อ (Label) ที่จะแสดงบนเมนูในการบูตระบบเพื่อให้เลือก ในที่นี้จะมีลีนุกซ์ TLE กับ WINME

Root (hd0,5) เป็นการระบุตำแหน่งเริ่มต้นในการบูต หรือเรียกว่า รูทพาร์ทิชัน (hd0 หมายถึงฮาร์ดดิสก์ ตัวที่ 1, 5 หมายถึงพาร์ทิชันที่ 6 )

Rootnoverrify (hd0,0) เป็นการระบุตำแหน่งเริ่มต้นในการบูตระบบวินโดวส์ (hd0 หมายถึงฮาร์ดดิสก์ตัวที่ 1, 0 หมายถึง พาร์ทิชันที่ 1) ตรงนี้สำคัญในบางครั้งเมื่อมีการติดตั้งระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ใหม่ grub.conf นำค่าพารามิเตอร์ที่ตรวจพบมาใช้ อาจไม่ตรงกับความจริง ให้ตรวจสอบค่าที่ถูกต้องจาก fdisk /dev/had ในหัวข้อที่ผ่านมาให้ระบุตำแหน่งในการบูตระบบให้ถูกต้อง

เมื่อข้อมูลถูกต้องพิมพ์คำสั่ง reboot เพื่อเริ่มบูตระบบใหม่อีกครั้ง จะเห็นว่าโปรแกรมจัดการในการบูตระบบ (Grub boot loader) จะทำงานก่อนระบบปฏิบัติการ โดยสามารถเลือกระบบปฏิบัติการที่ต้องการได้เหมือนดังเดิม

ข้อแนะนำ : ขณะที่อยู่ในโปรแกรม fdisk สามารถดูความหมายของ Id และ System ได้โดยใช้คำสั่ง “l <Enter>”

หวังว่าคุณผู้อ่านคงจะมีโอกาสได้ทดสอบการติดตั้งระบบปฏิบัติการสองตัวบนเครื่องเดียวกันแล้วนะครับ แต่หากไม่อยากติดตั้งวินโดวส์ใหม่ ก็สามารถทดสอบให้ลีนุกซ์บูตไม่ขึ้น โดยการบูตระบบเป็นวินโดวส์ จากนั้นเลือกปุ่ม Start ==> Run ในช่อง Open ของหน้าต่าง Run ให้พิมพ์คำว่า “fdisk /mbr” เท่านั้นตัวจัดการในการบูตจะถูกลบไป (grub จะถูกลบไป) ทำให้ไม่สามารถบูตลีนุกซ์ได้ (ต้องใช้แผ่นดิสก์บูต) แล้วจึงทดลองตามวิธีข้างต้นนะครับ



แหล่งอ้างอิง : http://www.arip.co.th

โดย : นาย zukarnai binmahmud, สถาบันราชภัฏสงขลา, วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545