เทศกาลงานบุญผีตาโขนเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีงานบุญหลวง ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นการรวมเอางานบุญพระเวส หรือฮีตเดือนสี่ และงานบุญบั้งไฟ และฮีตเดือนหก รวมเข้าไว้เป็นงานเดียวกัน
ถ้าเอ่ยถึง ผี เรามักจะนึกถึงสิ่งที่น่ากลัว แต่ผีตาโขนเป็นผีที่แปลกกว่าผีอื่นๆ เพราะนอกจากมีสีสันสดใสแล้วยังชอบหยอกล้อกับผู้คนอีกด้วย และที่ตรงข้ามกับผีทั่วๆไปก็คือสามารถออกอาละวาดได้ในกลางวันแสกๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแท้จริงแล้วผีตาโขนก็คือคนธรรมดานี่เอง แต่แต่งกายแล้วชุดผ้าหลากสีนำมาเย็บติดกันเป็นลวดลายต่างๆ ส่วนหัวที่เป็นสัญลักษณ์ผีตาโขนนั้น ทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียวที่นำมาพับให้มีลักษณะคล้ายหมวก แล้วตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆ มีสีสันงดงามสะดุดตา แสดงให้เห็นถึงศิลปะพื้นบ้านที่สืบต่อกันมานานแสนนาน ส่วนหน้าทำจากโคนก้านมะพร้าวถากเป็นรูปหน้ากาก แล้วเจาะช่องตา ส่วนจมูกทำด้วยไม้นุ่นแกะเป็นรูปทรงต่างๆ ปัจจุบันนิยมทำเป็นรูปยาวๆแหลมๆ คล้ายงวงช้าง ส่วนเขาทำมาจากปลีมะพร้าวแห้ง
ส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผีตาโขนก็คือ หมากกะแหล่ง คล้ายกระดิ่งที่ใช้แขวนคอโคและกระบือ ผีตาโขนจะนำหมากกะแหล่งมาผูกติดกับบั้นเอวหรือแขวนคอ เพื่อให้เกิดจังหวะการเดินแบบขย่มตัว (ยักย้ายสะโพกไปมา) นอกจากนี้ผีตาโขนทุกตัวจะต้องมีอาวุธประจำกายเป็น ดาบ หรือ ง้าว ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน โดยทำให้มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายและทาสีแดงตรงส่วนปลาย เอาไว้หยอกล้อเพื่อเกิดความสนุกสนานและขบขันมากกว่าที่จะทำให้เห็นเป็นเรื่องลามกหรือหยาบคาย
งานประเพณีผีตาโขนนั้น เริ่มต้นด้วยดารทำพิธีเปิด พระอุปคุต (ก้อนกรวดสีขาวในแม่น้ำ ) เพื่อเจริญพระอุปคุตให้มาช่วยปราบมารที่จะมาผจญในงานบุญให้ราบคราบ
หลังจากนั้นขบวนก็จะแห่ไปยังบ้านเจ้าพ่อกวนเพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อได้เวลาขบวนจะเริ่มเคลื่อนไปยังวัดโพนชัยเพื่อเวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ
หลายคนอาจสงสัยว่าคำว่า ผีตาโขน มีความหมายหรือมีที่มาอย่างไร บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการที่ผู้เล่นสวมหน้ากากคล้ายกับหัวโขน บ้าก็ว่ามาจากการบอกเล่าของเจ้าพ่อกวนขณะเข้าทรงว่ามาจากคำว่า ผีตามคน เพี้ยนมาเป็น ผีตาขน และ ผีตาโขน ในที่สุด
|