header


สีผสมอาหารจากธรรมชาติ
การปรุงรสและตบแต่งอาหารอย่างเหมาะสม ทำให้อาหารที่ได้มีลักษณะและรสชาดที่ชวนทาน อาหารของไทยทั้งคาวหวาน นิยมปรุงแต่งสีให้ดูสวยงาม แต่เดิมสีที่ใช้ในการปรุงแต่อาหารส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติคือไก้จาก ส่วนของดอก ผล แก่น ใบ เหง้าของพืช และบางครั้งก็ได้จากสัตว์ ในระยะหลังมีสีสังเคราะห์เกิดขึ้น จึงได้มีการนำสีสังเคราะห์มาใช้ในการปรุงอาหารกันมากขึ้น สีสังเคราะห์ที่ใช้ผสมอาหารได้จากการสังเคราะห์สารเคมีทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการค้นค้าวทดลองแล้ว ปรากฏว่าหลายชนิดเป็นอันตรายต่อคนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค จึงควรรู้จักเลือกอาหารที่ใส่สีผสมอาหารจากธรรมชาติเป็นอันดับแรก หรือเลือกอาหารที่ไม่ใส่สี หากทำอาหารรับประทานเอง ควรใส่สีจากธรรมชาติ เพราะจะได้อาหารที่มีความปลอดภัย ความสะอาดและประหยัดอีกด้วย สีผสมอาหารจากธรรมชาติที่จะแนะนนำในที่นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสีจากธรรมชาติและมีการใช้กันมานาน สามารถเลือกใช้ได้ตามชนิดของอาหารและความชอบ
1. สีแดงของกระเจี๊ยบแดง
ใช้กลีบเลี้ยงแห้งหรือสด ต้มกับน้ำเคี่ยวให้สีแดงออกมามากที่สุด กรองเอากากที่เหลือออกโดยผ้าขาวบาง บีบน้ำออกจากกลีบให้หมด น้ำกระเจี๊ยบที่ได้สีแดงเข้ม นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ หรือนำไปเติมน้ำตาล เกลือเล็กน้อย ปรุงเป็นเครื่องดื่มก็ได้
2. สีเหลืองของขมิ้นชัน
ใช้เหง้าสด ล้างน้ำ ปอกเปลือก บดหรือตำให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย คั้นกรองจะได้น้ำสีเหลืองเข้ม นำไปแต่งสีอาหารคาว เช่น แกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ แกงเหลือง อาหารหวาน เช่น ข้างเหนียวเหลือง ทำให้มีสีเหลือง น่ากิน
3. สีเหลืองส้มของคำฝอย
เอาดอกแก่มาชงน้ำร้อน กรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้ม ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง
4. สีแสดของคำแสด
นำเมล็ดมาแช่น้ำแล้วคนแรง ๆ หรือนำเมล็ดคำแสดมาบดแล้วแช่น้ำ กรองเอาเมล็ดออกด้วยผ้าขาวบาง ตั้งไว้ให้สีตกตะกอน รินน้ำใสทิ้ง นำตะกอนสีแสดที่ได้ไปแต่งสีอาหารประเภทไขมัน เช่น ฝอยทอง เนย ไอศกรีม และยังใช้ย้อมผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมได้ด้วย องค์การอนามัยโลกกำหนดให้รับประทานสีที่สกัดจากเมล็ดคำฝอยได้ไม่เกิน 0.065 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อ 1 วัน
5. สีเขียวของเตย
นำใบเตยสดที่สะอาด หันตามขวางโขลก เติมน้ำเล็กน้อย คั้น กรองผ่านผ้าขาวบาง จะได้น้ำสีเขียว มีกลิ่นหอม ใช้แต่งสีอาหารคาวและหวานได้ นิยมใช้แต่งสีอาหารหวาน เช่น ลอดช่อง สลิ่ม ขนมเปียกปูน วุ้นกะทิ น้ำเก็กฮวย เค้ก เป็นต้น บางทีเอามาโขลกพอแหลก ต้มกับน้ำใส่น้ำตาลเล็กน้อย ทำใบชาใบเตย มีสีเขียว กลิ่นหอมชื่นใจ
6. สีชมพูของฝาง
นำแก่นมาแช่น้ำ จะได้น้ำสีชมพูเข้ม ใช้แต่งอาหารได้
7. สีน้ำเงินของอัญชัน
ใช้กลีบดอกสด ตำ เติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบาง คั้นน้ำออกจะได้น้ำสีน้ำเงิน ถ้าเติมน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อย จะกลายเป็นสีม่วง ใช้แต่งสีอาหารตามต้องการ มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงินของขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู






โดย : นาง พิกุล เทพพิพิธ, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 7 ธันวาคม 2544