ไมโครเวิลด์กับเด็ก

      รองศาสตราจารย์ ดร. บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีคอนสตรักชั่นนิซึ่ม (Constructionism) อันเป็นที่มาของการสร้างความรู้ของผู้เรียนโดยใช้โปรแกรมไมโครเวิลด์ (พัฒนามาจากภาษาโลโก) ซึ่งมี ดร. แพบเพิร์ท เป็นเจ้าของทฤษฏี และเจ้าของโปรแกรม ดร. แพบเพิร์ทใช้โปรแกรมไมโครเวิลด์เป็นเครื่องมือให้เด็กได้สร้างงานขึ้นมา ท่านเชื่อว่าขณะที่เด็กสร้างงานขึ้นมาเด็กก็ได้สร้างความรู้ขึ้นมาด้วย และการสร้างความรู้นั้นเด็กต้องมีความสนุกสนาน มีความต้องการที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่ถูกบังคับหรือสั่งให้ทำ จากประสบการณ์ที่ได้สอนโปรแกรม ไมโครเวิลด์ให้กับเด็กอนุบาล และประถมศึกษาปีที่ 1-6 ของโรงเรียนสาธิต ”พิบูลบำเพ็ญ” เชื่อไหมว่าเด็ก ๆ ชอบโปรแกรมนี้เป็นอย่างมาก โปรแกรมตอบสนองการเรียนของเด็กแต่ละวัยได้ เด็กสามารถใช้เม้าส์คลิกนำภาพมาสร้างงานของตนเอง (ตามที่ครูกำหนดให้กว้าง ๆ ควรให้เด็กคิดเองให้มากที่สุด) เด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยสามารถเขียนโปรแกรมสร้างภาพเคลื่อนไหว (Animation) เช่น ให้นกบินได้ แสดงการเกิดพายุใต้ฝุ่นที่สามารถเพิ่มความเร็วหรือช้าได้ ให้งูเลื้อยได้ หรือเขียนโปรแกรมลากเส้น ให้เต่าลากเส้นเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา สร้างบ้านหรือสิ่งของตามที่ตนเองต้องการได้ นอกจากนั้นโปรแกรมไมโครเวิลด์ยังมีคำสั่งซึ่งเป็นคำสั่งภาษาโลโก (Logo) สั่งให้โปรแกรมทำงานได้อีกมากมาย เด็กสามารถจินตนาการโดยนำคำสั่งไปประยุกต์สร้างสรรค์งานของตนเอง 
      ในประเทศอเมริกาก็ได้นำภาษาโลโก้ และไมโครเวิลด์มาใช้ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และการสร้างความรู้ของผู้เรียนเป็นประเทศแรก ส่วนประเทศญี่ปุ่นได้นำภาษาโลโก้มาใช้สอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษามานานแล้วเช่นกัน ซึ่งทำให้เด็กได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกให้เด็กคิดอย่างมีระบบ มีทักษะทางคณิตศาสตร์ และทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน สำหรับโรงเรียนสาธิต ”พิบูลบำเพ็ญ” กำลังสร้างประสบการณ์ดังกล่าวให้กับนักเรียนโดยใช้โปรแกรมไมโครเวิลด์ หวังว่าช่วยสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นให้กับนักเรียนได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการศึกษายุกต์ใหม่อีกด้วย 
       เมื่อใดที่เห็นผู้เรียนมีความสนุกสนาน มีความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้ ผู้สอนก็พลอยมีความสุขไปด้วยเช่นกัน อยากจะเชิญชวนคุณครูทุกท่านลองมาสัมผัส โปรแกรมไมโครเวิลด์แล้วนำไปใช้เป็นสื่อการสอนในวิชาของท่าน อาจจะทำให้ท่านและนักเรียนมีความสนุกสนานกับการเรียนการสอนมากขึ้นกว่าเดิม

 


โดย : ดร. อุดม รัตนอัมพรโสภณ, มหาวิทยาลัยบูรพา, วันที่ 12 กันยายน 2545