ด้วยรักและคิดถึงสตรีสาร(ตอนที่ 2)

ด้วยรัก...และคิดถึงสตรีสาร

 

หนังสือคือเพื่อนรัก แน่ตระหนักเสมอไป

ยามทุกข์ปลุกปลอบใจ ที่เหงาหงอยค่อยเคลื่อนคลาย

กล่อมจิตให้คิดฝัน ล้วนสิ่งบรรเจิดเพริดพราย

เป็นมิตรสนิทกาย ให้ความรู้เชิดชูตน

(ฐาปะนีย์ นาครทรรพ)

จากคำประพันธ์ข้างต้นหนอนหนังสือคงรู้แจ้งประจักษ์ใจถึงคุณค่าของหนังสือและประจักษ์แจ้งยิ่งกว่าถ้าหนอนเหล่านั้นเป็นแฟน สตรีสาร นิตยสารรายสัปดาห์ที่ลาจากบรรณภพไปเมื่อ ปี ๒๕๓๙ ความคิดถึงที่มีต่อ สตรีสาร นั้นมากมายท่วมท้นสุดจะกล่าวคำใดได้ ตามถ้อยแถลงของ บ.ก.(นิลวรรณ ปิ่นทอง)บอกกล่าวถึงเหตุที่ทำให้สตรีสารต้องอำลาจากผู้อ่าน ใครที่ได้อ่านทั้งถ้อยแถลง จดหมายจากนักเขียนที่มีผลงานลงใน สตรีสาร แฟน สตรีสาร ที่เขียนถึง บ.ก. คงต้องถึงกับน้ำตาซึม และเห็นด้วยกับความในจดหมายเหล่านั้นที่พรรณนาถึงสรรพคุณ อาลัย เสียดายฉบับแล้วฉบับเล่า

ถ้อยแถลงที่ บ.ก.ชี้แจงแจ้งเหตุว่าทำไม สตรีสาร ต้องอำลาไปจากโลกของหนังสือว่า ประการแรกนั้นก็คือ สังขารของตัว บ.ก.เองก็ ๘๐ ปีเข้าไปแล้ว เริ่มทำ สตรีสาร เมื่ออายุได้ ๓๒ ปี ถึงเวลาที่ควรเกษียณตัวเองเพื่อพักผ่อนได้แล้ว เหตุผลประการต่อมาก็คือ ที่ตั้งสำนักงานหนังสือ บริษัท และโรงพิมพ์ได้สัญญาปีต่อปี ยากต่อการคิดอ่านดำเนินงาน ประการสุดท้ายนับว่าเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้จำต้องอำลาก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทวีขึ้นแต่รายได้ไม่ทวีตาม กรรมการบริษัทฯ และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทฯ พิจารณาแล้วมีมติให้ยุติการจัดออกนิตยสาร สตรีสาร เมื่อครบรอบปีที่ ๔๘ ซึ่งจะตรงกับ ฉบับที่ ๕๒ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ (ฉบับแรกเริ่มต้นเมื่อ ต้นมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ )

จากเหตุผลประการสุดท้ายที่ว่ารายจ่ายทวีแต่รายได้ไม่ทวีตามนั้นเป็นเหตุผลที่พอจะแก้ได้ในทางธุรกิจเพียงแต่ สตรีสาร ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามกระแสของตลาดซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว สตรีสาร ก็คงไม่เป็น สตรีสาร ที่ผูกมัดใจผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย ตลอดมาดังเช่นที่เป็น

สตรีสาร จะนำเสนอคอลัมน์ที่เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ได้จริงๆซึ่งพอจะจัดได้เป็น ๓ วัย คือ ผู้อ่านเยาว์วัย ผู้อ่านวัยสาวหนุ่ม และ ผู้อ่านวัยสูงวัย (กว่าหนุ่มสาว) สตรีสาร จัดกลุ่มเนื้อหาออกเป็นภาค ดังนี้ ๑. วัยสาว – หนุ่ม ๒. นิทาน – เรื่องสั้น – ประสบการณ์ ๓. นวนิยาย ๔. ข่าว – สารคดี – ทรรศนะ – บันเทิงสุนทรีย์ ๕. กวี – ภาษา – หนังสือ ๖. ศิลป– ตกแต่ง – เชิงช่าง ๗. คุณภาพชีวิต ๘. ภาคพิเศษสำหรับเด็ก

คอลัมน์ที่ปรากฏในนิตยสาร สตรีสาร ในภาคต่าง ๆ ย้อนหลังจาก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ไป ๓ ปี มีลักษณะที่พอจะแยกแยะชี้ให้เห็นคือ ในภาคสาว – หนุ่ม นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้นักเขียนสมัครเล่นประลองฝีมือเพื่อแจ้งเกิดเป็นนักเขียนอาชีพได้โดยกำหนดให้ผู้อ่านที่อยู่ในวัย ๑๕ - ๒๕ ปี เขียนเล่าประสบการณ์ สร้างสรรค์งานศิลป์ กำหนดเป็น ลำนำ ความยาว ครึ่งหน้าถึง ๑ หน้า เรื่องแต่งราว ๑ - ๔ หน้ากระดาษพิมพ์ เรื่องที่ได้รับคัดเลือกลงในนิตยสารจะมีรางวัลให้ด้วยในแต่ละฉบับอาจลงจำนวนเรื่องไม่เท่ากันตามแต่ผลงานที่ได้รับคัดเลือกในแต่ละรอบ นอกจากเป็นสนามประลองฝีมือแล้ว ก็มีข่าวสาร แวดวงมหาวิทยาลัย สารคดีท่องเที่ยว เพลงที่กำลังอยู่ในความนิยม

ต่อจากภาคสาว – หนุ่ม เป็นภาคนิทาน – เรื่องสั้น – ประสบการณ์ เนื้อหาจะมีครบตามชื่อภาค ทั้งนิทาน เรื่องสั้น เรื่องสั้น สั้น ประสบการณ์ ที่แต่ละฉบับก็มาจากนักเขียนที่ไม่ค่อยจะซ้ำหน้ากัน เมื่อได้อ่านจึงเหมือนได้ลิ้มรสอาหารหลากหลายรสชาติ ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด จืด สลับกันไปมาไม่น่าเบื่อเลย

ภาคนวนิยาย ตามมาติดๆ เป็นอีกภาคหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านสตรีสาร ด้วยเป็นนวนิยายที่สนุก ไม่เครียด น่าติดตาม แบบเบาๆ สบาย ๆ จากปลายปากกาของนักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย อย่างเช่น โบตั๋น , ประภัสสร เสวิกุล แมน สุปิติ ,สีฟ้า , มัสยา ฯลฯ เนื้อหาของนวนิยายจะเป็นแนวสะท้อนความเป็นจริงในด้านที่ไม่รันทดเกินไปจนหาทางออกไม่ได้ ไม่ไร้สาระจนหาแก่นสารไม่ได้ ไม่ชิงรักหักสวาทโดยขาดเหตุผล (จริงๆความรักไม่ใช่เรื่องของเหตุผลนะ เป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่า)

จากนั้นก็เป็นภาค ข่าว – สารคดี – ทรรศนะ – บันเทิงสุนทรีย์ ในภาคนี้นักเขียนค่อนข้างจะเป็นเจ้าประจำผูกขาดที่เยี่ยมยอดฝีมือในทางการเขียน รูปแบบของภาคนี้ก็จะมีหลายคอลัมน์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ สัปดาห์ปริทรรศน์ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับ ข่าวทั้งในและนอกประเทศ คอลัมน์สังคมวัฒนธรรม จะเป็นข่าวสารของศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม กุศลสาธารณะ ซึ่งมีภาพข่าวประกอบด้วย คอลัมน์สารคดี อาจจะเป็นสารคดีตอนเดียวจบ หรือหลายตอนจบตามแต่ความยาว ความน่าสนใจของเนื้อหา อย่างเช่น สารคดีเรื่องตามรอยโกษาปาน เขียนโดย วราห์ วรเวช เป็นสารคดีที่มีความยาวมากกว่า ๑๐ ตอน นอกจากนี้ยังมีบทความที่เขียนโดยนักเขียนฝีปากเกือบจัด (บางคนอาจจะว่าจัดไปแล้ว) นั่นก็คือ วาณิช จรุงกิจอนันต์ หรืออีกหลายๆ บทความของนักเขียนชื่อดังคุณภาพคับแก้ว อ่านได้จุใจจนวางไม่ลง ตามมาด้วยคอลัมน์วิจารณ์ละครทีวี คนที่ไม่ค่อยจะได้ดูทีวีซักเท่าไหร่ก็พลอยรู้เรื่องตามคนอื่นเขาด้วยไม่ตกสมัยเพราะอ่านคอลัมน์นี้ และปิดท้ายภาคนี้ด้วยเคล็ดลับความงามที่ผู้เขียนเต็มใจจะเปิดเผยซึ่งก็จะเป็นความงามทั้งทางกายและทางใจ

กวี - ภาษา – หนังสือ เป็นภาคที่ตามมาติด ๆ ในหน้าสารบัญ ประกอบไปด้วยเกมจิตไม่ว่างหรือปริศนาอักษรไขว้นั่นเอง เล่นเกมนี้แล้วรับรองจิตไม่ว่างจริงๆ แก้ฟุ้งซ่านได้ดีนักแล ด้วยเหตุที่ว่าบรรจุคำศัพท์ในแต่ละเกมแต่ละฉบับ ๔๐ - ๕๐ คำ โอ้โห เลยล่ะ ในด้านภาษานั้นใช่จะมีแต่ภาคภาษาไทยเท่านั้น ยังมีภาคภาษาอังกฤษด้วยเสนอในลักษณะเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเพลง หลายคนที่ร้องเพลงฝรั่งเก่ง ๆ แต่ไม่เข้าใจความหมายติดตามคอลัมน์นี้ไม่ผิดหวังแน่ ในส่วนของหนังสือจะเป็นการแนะนำหนังสือดัง ดัง น่าสนใจไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม อาจจะเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ หรือหนังสือดีที่น่าอ่าน มีการเสนอบทความข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษา และแถมท้ายคอลัมน์นี้ด้วยกลอนหก ที่ สตรีสาร กำหนดหัวข้อให้ผู้สนใจเขียนส่งมาร่วมหรือบางครั้งอาจจะเป็นคำประพันธ์ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลอนดอกสร้อย หรือสักวา

ภาคศิลป์ - ตกแต่ง – เชิงช่าง แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับความงาม ทั้งทางด้านการแต่งกาย สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม เกี่ยวกับการแต่งกายก็จะเป็นการแนะนำการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาละเทศะ บุคลิกลักษณะของตนเอง มีภาพประกอบให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้านการตกแต่งบ้านเรือนจะนำเสนอการจัดบ้าน และสวนในมุมมองต่าง ๆ การเลือกใช้วัสดุ เลือกสี ต้นไม้ ให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุด และในคอลัมน์ศิลปทรรศน์ จะเป็นภาพวาด ภาพเขียน ของจิตรกรมีชื่อ พร้อมทั้งคำอธิบายความเห็นที่มีต่อภาพเหล่านั้น สุดท้ายในภาคนี้เป็นคอลัมน์ งานปัก งานฝีมือที่เอาใจคุณผู้หญิงที่อยากฝึกฝีไม้ฝีมือในงานหัตถกรรม

ภาคก่อนสุดท้ายในหน้าสารบัญก็คือ ภาคคุณภาพชีวิต ความหมาย เนื้อหา ตรงตามชื่อภาคเลยทีเดียวไม่ต้องแปลให้เสียเวลา การทำให้คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทั้งกายใจ ทั้งเรื่องธรรมมะ การปรับตัวเมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ เรื่องของดอกไม้ไทย ๆ ดอกไม้ในวรรณคดี เรื่องของอาหารการกินเพื่อสุขภาพ การรักษาสุขภาพ การทำศัลยกรรมตกแต่งล้วนแล้วแต่อยู่ในภาคนี้ทั้งนั้น

และภาคสุดท้ายท้ายที่สุดในหน้าสารบัญ คือภาคพิเศษสำหรับเด็ก ที่ผู้ใหญ่ก็ชอบอ่านด้วยใช่แต่เด็กเท่านั้น จะแตกต่างจากภาคอื่นอย่างชัดเจน โดยการแยกหน้าจากภาคอื่นมีการใช้คำว่าหน้าพิเศษ ๑ จนถึงหน้าพิเศษ ๒๘ ถือว่าเป็นพิเศษเหมาะสำหรับดึงดูดความสนใจความสนใจแก่เด็ก ๆ จริง ๆ หน้าภาคพิเศษนี้จะเปิดตัวด้วยหัวคอลัมน์ว่าสตรีสารภาคพิเศษ บอกปีที่พิมพ์ ฉบับ วัน เดือน ปี เสร็จสรรพ เหมือนกับเตรียมพร้อมที่จะแยกตัวไปเป็นภาคพิเศษแยกเล่มต่างหากจากนิตยสารรายสัปดาห์เลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากมีการแยกเล่มจริงก็น่าเสียดาย เพราะจะต้องควักกระเป๋าซื้ออีกต่างหาก แน่นอน ๒ เล่มย่อมแพงกว่าเล่มเดียว เพราะจะให้ขายราคาเดิมย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ทาง บ.ก. ก็ได้สำรวจความเห็นจากแฟน ๆ สตรีสาร แล้ว ปรากฏว่า กว่า ๖๐ % พอใจให้รวมเล่มเหมือนเดิม นอกจากหัวกระดาษภาคพิเศษจะเปิดตัวแบบพิเศษที่ว่าแล้ว ยังเป็นภาพสีเหมือนปกหนังสือทั่วไปด้วยถัดลงมากลางหน้ากระดาษเป็นการ์ตูนไทย อาจมีเนื้อเรื่องประกอบในบางฉบับ ด้านล่างสุดเป็นสารบัญแบบย่อ นับว่าเป็นการเปิดตัวได้งดงามมากในทุก ๆ ด้าน

ในเล่ม อ้อไม่ใช่สิ ในภาคต่อจากปกก็เป็นการตอบจดหมายแฟน ๆ รุ่นจิ๋วของปรียา ตามด้วยชุมนุมนักประดิษฐ์ เป็นการประดิษฐ์ของเล่นง่ายๆ ที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาไม่ยาก จากนั้นก็เป็น แววกวี โดยกำหนดหัวข้อ ความยาว ให้คุณหนู ๆ ส่งมาลงตามอัธยาศัย ต่อด้วยเสริมภาษาไทย เติมพยัญชนะ เติมอักษร โดยใช้ภาพบอกใบ้คำเหล่านั้น เมื่อเสริมภาษาไทยแล้วก็ต้องเสริมภาษาอังกฤษด้วยเพราะเป็นภาษาสากลทั้งโลกต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นเติมอักษร โยงเส้น จับคู่สารพัดสารพันรูปแบบเลยทีเดียวล่ะ คอลัมน์รอบรู้ เสนอความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น การเกษตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หัดวาดรูป มีการ์ตูน ๖ ช่องจบ มีคณิตคิดสนุก แล้วยังมีมุมน้องเล็ก ๔ - ๖ ขวบด้วยไม่ว่า จะนับเลข เขียน ก. ลากเส้นระบายสี ทุกทักษะสำหรับน้องเล็กอยู่ในนี้ทั้งหมด สตรีสาร จะเน้นความเป็นไทยมากนอกจากใช้ตัวเลขไทยในหนังสือแล้วยังปลูกฝังให้คนไทยสำนึก ภูมิใจ ในความเป็นไทยตั้งแต่เด็ก โดยการเสนอนิทานพื้นบ้าน วรรณคดีไทยลงในภาคพิเศษด้วย

นอกจากคอลัมน์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังเปิดโอกาสให้นักเขียนน้อยประลองฝีมือในคอลัมน์ แต่งเรื่องจากภาพ กำหนดภาพแล้วให้แต่งเรื่องสั้นส่งมาร่วม ในหน้านี้จะมี ปริศนาคำทายเป็นการ์ตูนไทยในมุมล่างสุดด้วย

จากนั้นก็จะเป็นคอลัมน์การเขียนภาพโดยกำหนดหัวข้อแล้วให้จิตรกรรุ่นจิ๋ววาดภาพซึ่งเป็นการฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีมาก อย่างเช่นตั้งชื่อเรื่องว่า คลายเครียด เจ้าหนูทั้งหลายก็คงจะคิดสารพัดวิธีที่คลายเครียดแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด ถัดมาเป็นคอลัมน์ จริงหรือที่ว่ากัน เป็นความรู้ต่างๆ ที่เล่าสืบกันมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หน้าเดียวกันนี้ครึ่งล่างของหน้าเป็นเกมสนุกๆ เล็กๆ น้อยๆ หรือบางฉบับก็เป็นแสตมป์ตูน หน้าถัดไปเป็นเกมฝึกสมอง และต่อไปอีกเป็นคอลัมน์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภาพถ่ายประกอบด้วย หรือบางฉบับก็เป็นรู้รอบ รอบรู้ และอาจจะมีนิทานต่างชาติที่แปลเป็นไทย มาร่วมแจมด้วย ก่อนที่จะตบท้ายภาคพิเศษเป็นการระบายสีลงบน ภาพวาด และส่วนมากจะตบท้ายด้วยการแต่งตัวตุ๊กตาซึ่งเป็นหน้าที่ชื่นชอบของเด็กทุกยุค ทุก พ.ศ. แต่น่าเสียดายถ้าต้องตัดหนังสือเพื่อแต่งตัวตุ๊กตาดาราเหล่านั้น

สตรีสาร เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่ได้รับคำชมเป็นเสียงเดียวกันว่า คุ้มค่า น่าอ่าน เหมาะสม สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ไปเสียทุกประการสิ่งยืนยันว่า สตรีสาร ยอดเยี่ยมก็คือรางวัลต่างๆ ที่ได้รับดังนี้ ปี ๒๕๓๐ รางวัลพระเกี้ยวทองคำ ปี ๒๕๒๔, ๒๕๒๖, ๒๕๒๗ รางวัลจากสำนักงานเยาวชนแห่งชาติและ

ปี ๒๕๒๘ ,๒๕๒๙ รางวัลเกียรติคุณ ปี ๒๕๒๖ รางวัลจากกรรมการพัฒนาหนังสือ ฯ ๗๐๐ ปีลายสือไทย ปี ๒๕๒๒ รางวัล สื่อมวลชนสำหรับเด็ก ปี ๒๕๑๗ รางวัลจากสภาสงเคราะห์

ด้วยเหตุที่ สตรีสาร เป็นที่ประทับใจ ซาบซึ้งตรึงตรา เป็นเพื่อนสนิท เป็นมิตรคู่ใจ เมื่อจำต้องพรากจากลา ความอาลัย ระลึกถึงนั้นย่อมมีมากมายสุดจะพรรณนา น่าเสียดายเหลือเกินที่หนังสือดี ๆ เล่มนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นการลาจากพร้อมกับความทรงจำที่ดี และยาวนานตลอดไป

 

 



แหล่งอ้างอิง : หนังสือสตรีสาร ปีที่ 48 ฉบับที่ 45 - 50 ประจำเดือน มกราคม 2539

โดย : นาง ชโลมใจ ตีระพฤติกุลชัย, โรงเรียนเพชรพิทยาคม, วันที่ 22 สิงหาคม 2545