e-Commerce กับการร่วมค้าแบบโปร

e-Commerce กับการร่วมค้าแบบโปร่งใสบนเว็บ

     การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบร่วมมือกันนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาสินค้าร่วมกัน การร่วมในห่วงโซ่อุปทาน (e-Supply Chain) เกี่ยวเนื่องกับการต่อเชื่อมระบบจัดซื้อ (e-Procurement) เข้าด้วยกัน การใช้ระบบขนส่งร่วมกัน และการต่อเชื่อมกับเครือข่ายการจัดจำหน่าย หรืออยู่ภายใต้ระบบตลาด หรือ e-Marketplace เดียวกัน

     หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือทุกกิจกรรมธุรกิจของเราต้องอยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อการลดขั้นตอนที่ไม่สร้าง "มูลค่าเพิ่ม" และเพิ่มความเร็วในการสนองตอบต่อความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง   เริ่มจากผู้ขายวัตถุดิบ และ/หรือ ชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบสินค้าของเราก่อน ซึ่งหากได้มีการร่วมกันออกแบบ และพัฒนาสินค้าร่วมกันตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้สามารถสร้างเครือข่ายการสนับสนุนการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยการซื้อ-ขายขององค์กร ธุรกิจเหล่านี้ สามารถต่อเป็นระบบ"ออนไลน์" ให้ผู้ขายวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนมองเห็น "วัตถุดิบ/ชิ้นส่วนคงเหลือ" ของผู้ซื้อ ตลอดเวลาซึ่งจะทำให้เขาประเมินได้ว่า เราจะต้องการวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนจากเขาอีกเมื่อไหร่ ทำให้สามารถเตรียมการผลิตไว้ล่วงหน้าได้ นั่นคือทำให้มีการสต๊อกของเท่าที่จำเป็นต้องใช้งานเท่านั้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้รวดเร็วในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อด้วย

     การใช้เครือข่ายการค้าแบบร่วมมือกันนี้ ยังสร้าง "องค์ความรู้" ให้ทั้งสองฝ่ายด้วย กล่าวคือ การได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การพัฒนาต้นแบบ หรือสินค้าตัวอย่าง และมีการเปิดช่องผ่านอินเทอร์เน็ตได้มองเห็นแนวทางการ พัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอด ช่วยเหลือกัน เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าออกมาในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และช่วยลดเวลาในการแก้ไขด้วยการเริ่มจากการพัฒนาสินค้าร่วมกันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ e-Supply Chain จะทำให้ผู้ขายเข้าใจเป็นอย่างดีว่าผู้ซื้อต้องการสินค้าคุณลักษณะ หรือคุณภาพระดับใด ทำให้ลดกระบวนการตรวจสอบคุณภาพที่ซ้ำซ้อน ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องมานั่งพยากรณ์ถึงความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะภายใต้ระบบที่เชื่อมโยงแบบนี้จะทำให้เกิด "ความโปร่งใส" 

      เช่นเดียวกัน ผู้ผลิตกับผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ขายสินค้าก็จะได้ ประโยชน์จากการร่วมเป็นเครือข่ายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบภาคีนี้ด้วย โดยผู้ผลิตก็มองเห็นสต๊อกของผู้ขายตลอดเวลาว่าขณะนี้มีของเหลือเท่าใด ทำให้เตรียมการที่จะสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าได้ หรือด้วยหลักการเดียวกันนี้ ผู้จัดจำหน่ายก็อาจจะยกการดูแลสต๊อกสินค้านี้ให้แก่ผู้ผลิตไปเลยก็ได้ ซึ่งเท่ากับลดต้นทุนการจัดการในตัวด้วย


 


ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ.e-Commerce กับการร่วมค้าแบบโปร่งใสบนเว็บ. [ ออนไลน์ ] เข้าถึงได้จาก http://technology.mweb.co.th. 4/10/2544.

โดย : นางสาว จรัญญา พิทักษ์กุล, ราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ, วันที่ 14 สิงหาคม 2545