ต้นบุก หรือ Konjac ต้นไม้ประเภท Amorphophallus เหมือนกับบุกไทยที่เรานำต้นมาแกงส้ม ลวกจิ้มนำพริก หรือเอาหัวมาฝานเป็นแผ่นไว้นึ่งหรือย่างไฟกินเป็น " ขนมบุก "นั่นเอง
บุกที่ไทยเรานำต้นมาแกงเป็นชนิด A.muelleri Blume เราเรียกว่า " บุกไข่ " ส่วนบุกที่เปลือกเป็นตะปุ่มตะป่ำ ต้องลอกทิ้งเมื่อนำมาทอด เรียกอีกอย่างว่า White spot arum
ปัจจุบันบุกถูกนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์แตกต่างจากเดิมมาก และใช้กันแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
บุกเป็นพืชที่น่าทึ่ง ส่วนลำต้นเหนือพื้นดินจะมีวงจรเติบโตระยะสั้น เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน ลำต้นสูงประมาณ3-6 ฟุต จะแตกก้านและใบสวยในหน้าฝน และไม่นานก็จะแห้งตายในที่สุด ผลจะออกในหน้าหนาว ดอกจะสีม่วงเข้มคล้ายดอกหน้าวัวอุตพิต จะออกหน้าร้อนบานประมาณ 1 สัปดาห์ หัวบุก เป็นก้อนอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ
บุกมีหลายชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรง แต่ทุกชนิดจะมีสาร " แคลเซี่ยมออกซาเลต "เป็นผลึกรูปเข็ม มีอยู่ทั้งในต้นและหัวบุก ถ้าทำไม่ถูกวิธีจะทำให้คันมาก ซึ่งสามารถแก้ได้หลายวิธี เช่น นำไป ลวก ต้มในขณะน้ำเดือด หรือนำไป เผาไฟ ก่อนก็จะคลายพิษจากแคลเซี่ยมออกซาเลตได้
คนญี่ปุ่นจะนิยมกินบุกกันมาก โดยจะนำบุกไปสกัดเป็นแป้ง เมื่อทำปฏิกิริยากับด่างจะเป็นวุ้นใส ใช้ทำอาหารได้สารพัด เช่น ยำแทนวุ้นเส้น ทำแกงจืด ผัด หั่นเป็ชิ้นแทนปลาหมึก ฯลฯ
บุก ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกคือ มี "กลูโคแมนแนน" ซึ่งเป็นแป้งที่มีเส้นใยสามารถดูดน้ำได้มาก ขณะเดียวกันน้ำตาลดี-กลูโคส( D-glucose) และดี-แมนโนส( D-mannose) ในแป้งชนิดนี้ไม่ให้ทั้งพลังงานและสารอาหาร เมื่อกลืนลงไปแป้งบุกจึงเข้าไปกินเนื้อที่บรรจุอาหารในกระเพาะ และน้ำที่เส้นใยดูดไว้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักแก่กากอาหาร สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้กินอาหารได้น้อยลง โดยที่นำตาลในแป้งบุกก็ปราศจากคุณสมบัติที่จะทำให้อ้วนได้ และกากใยอาหารของบุกก็ยังทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัวมากขึ้น เป็นประโยชน์ในเรื่องการขับถ่ายและยังช่วยจับสารพิษไว้ ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับลำไส้ได้น้อยลง จึงช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ไปในตัว
ปัจจุบันมีการบรรจุแคปซูลหรือบรรจุซองละลายน้ำดื่ม ขาย สำหรับคนต้องการลดน้ำหนัก(คนกลัวอ้วน)มากมาย
บุก ในฐานะผักของคนไทย เป็นผักที่หาได้ในหน้าฝนเท่านั้น และอยู่ในป่า ไม่ใช่ผักที่มีกินตลอดปี ฉะนั้นต้องคอยดูว่าบุกที่ก้านโตจะแตกออกมาจากหัวเมื่อใดจึงจะเก็บได้ คูณค่ามากมาย ต้องลองรับประทานดู |