โรคสมาธิสั้น

 


สมาธิสั้น (Attention deficit/hyperactivity disorder, ADHD) เป็นความผิดปกติของการพัฒนาการของเด็กที่พบได้บ่อย และมักจะพบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ช้า การไม่สามารถเข้าสังคมหรือไม่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ สมาธิสั้นพบในเด็กผู้ชายมากว่าผู้หญิง 2 - 3 เท่า
ภาวะสมาธิสั้น จะแสดงพฤติกรรมที่สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ไม่มีสมาธิ - คือภาวะที่ไม่สามารถที่จะอดทนทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เป็นเวลานานๆ , ลืมง่าย, วอกแวกง่าย และไม่ค่อยฟังใครพูด
2. อยู่ไม่นิ่ง - ไม่สามารถอยู่นิ่งหรือสงบได้, เคลื่อนไหวตลอดเวลา, พูดเร็ว
3. ขาดความสามารถในการไตร่ตรอง - ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทำหรือพูดโดยไม่คิด
การรักษาสามารถทำได้โดย การใช้ยา การบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมดังนี้
1. การใช้ยา - การใช้ยากระตุ้น เช่น Ritalin (methylphenidate), Dexedrine (dextroamphetamine), Adderall and Cylert (pemoline) ได้ผลดีในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถลดการอยู่ไม่นิ่ง และพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ การทำงาน และความมีสมาธิ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเป็นเพียงแต่ช่วยในการควบคุมอาการไว้ชั่วคราว และอาจช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยในการพัฒนาทักษะที่เฉพาะเจาะจง เช่น การอ่าน ความจำ
2. การบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  - จะทำร่วมกับการใช้ยา ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลมากยิ่งขึ้น ได้แก่
- การบำบัดทางจิต เพื่อช่วยให้ที่มีภาวะดังกล่าวยอมรับตนเองและความผิดปกติที่เกิดขึ้น
- การฝึกการรับรู้ เพื่อช่วยให้เรียนรู้ในการจัดการกับพฤติกรรมของตนเอง
- การฝึกทักษะทางสังคม เพื่อช่วยให้มีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม

3 . การจัดสิ่งแวดล้อม

- เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นสามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติได้ แต่อาจจะต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น
- การจัดที่นั่งให้ในบริเวณที่ไม่ทำให้ความสนใจไขว่เขวง่าย
- จัดพื้นที่ให้เพียงพอกับการเคลื่อนไหว เช่นการวิ่งเล่น
- ยกเลิกกฏเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น และให้รางวัลเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- ให้เวลาพิเศษในการสอบ
- หมั่นเตือนความจำบ่อยๆ
- ใช้วิธีพูดพร้อมๆกับเขียนเวลาสั่งงาน


ที่มา : คิดคม สเลลานนท์และวิลาสิณี สเลลานนท์

โดย : นาง สมัธยา เพ็ชรวงศ์, ร.ร.มัธยมวัดสิงห์, วันที่ 13 กรกฎาคม 2545