มนุษย์ยุคแรก

มนุษย์ยุคแรก

นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างสับสนเกี่ยวกับช่วงเวลาของการมีชีวิตอยู่ของออสตราโลพเทคัส แอฟริกานัส และของโฮโมอีเร็กตัส ซึ่งเป็นโฮมินิดอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เป็น เช่นนี้ก็เพราะซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบมีน้อยและไม่ค่อยสมบูรณ์กล่าวคือ มีเพียงเศษชิ้นส่วนของกะโหลกเพียงไม่กี่ชิ้น ทำให้ไม่เพียงพอที่จะนำมาศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ทั้งสองกลุ่มนี้
ดอกเตอร์หลุย์ ลีกีย์ ได้ขุดพบซากดึกดำบรรพ์อายุถึง 2 ล้านปีในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับออสตราโลพิเทคัส แอฟริกานัสมาก แต่มันมีสมองที่ใหญ่ถึง 650 ลูกบาศก์เซนติเมตรข้าง ๆ ซากนั้นยังขุดพบเครื่องมือหินหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถใช้เครื่องมือหินเหล่านี้ได้ ดอกเตอร์ลีกีย์เชื่อว่าซากดึกดำบรรพ์ที่เขาพบนั้นคือ ลิง เอปกลุ่มโฮมินิดที่ใช้เครื่องมือเป็น จึงตั้งชื่อว่า โฮโม ฮาบิลิส ซึ่งแปลว่า "มนุษย์ผู้คล่องแคล่ว" ทั้งยังประกาศว่านั่นคือมนุษย์ยุคแรกสุด
ในปีพ.ศ.2515 มีการขุดพบกะโหลกศีรษะที่เก่าแก่ยิ่งขึ้นไปอีกในประเทศเคนยากะโหลกนี้มีขนาดใหญ่กว่าของโฮโม ฮาบิลิส และพร้อมกันนี้ยังขุดพบเครื่องมือด้วย นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่ากะโหลกที่พบใหม่นี้เป็นของบรรพบุรุษของมนุษย์ที่แท้จริง แต่บางคนก็ยังเชื่อเช่นเดียวกับดอกเตอร์ลีกีย์ว่ามนุษย์ยุคแรกสุดคือ โฮโม ฮาบิลิส อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มกลับคิดว่าซากที่ค้นพบทั้งสองประเภทนี้ไม่ควรจัดให้เป็นมนุษย์แต่อย่างใด เพราะมันเป็นเพียงออสตราโลพิเทคัส ที่มีพัฒนาการที่สูงมากเท่านั้น ในอนาคตหากขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ได้มากกว่านี้คงจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจได้มากขึ้นว่า มนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างไรกันแน่


จากหนังสือชุดโลกโบราณ มนุษย์ยุคแรก



โดย : นางสาว นุชจรี ทัพเพรียง, ร.ร สุเหร่าบ้านดอน 84 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ 10110, วันที่ 28 มิถุนายน 2545