ธุรกิจ


แหล่งเงินทุน
--------------------------------------------------------------------------------
เงินทุนนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานของธุรกิจทุกประเภท ดังนั้น
ในยามใดก็ตามหากธุรกิจขาดแคลนเงินทุน ธุรกิจนั้น ๆ จะต้องคิดหาวิธีที่จะให้ได้เงินทุนมาใช้ดำเนินงานจากแหล่งที่ดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับกิจการของตนด้วย วิธีการจัดหาเงินทุนนี้หากมิได้มีการคิดอย่างรอบคอบ และกระทำอย่างง่าย ๆ ตามทางเลือกที่สะดวกแล้ว จะมีปัญหาตามมามากมาย เช่น ถ้าหากใช้วิธีไปขอกู้จากธนาคาร ซึ่งนอกจากจะต้องมีหลักทรัพย์คุ้มกับวงเงินกู้แล้ว การกู้นั้นยังต้องมีการทำสัญญาผูกมัดด้วย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปหากเกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะต้องถูกบังคับให้ชำระหนี้ ทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไป หรือถ้าหากผู้อื่นเข้ามาร่วมลงทุนอาจทำให้เกิดปัญหาต้องสูญเสียอำนาจจากการควบคุมไป และถ้าหากไปกู้ยืมจาก นายทุนเงินกู้นอกระบบด้วยแล้ว ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและฉ้อฉลจากผู้ให้กู้ยืมก็จะเกิดขึ้น โดยไม่อาจคาดหมายผลเสียหายที่จะตามมาได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าว เจ้าของกิจการธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องคิดหาหนทางที่จะให้ได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนที่ดี ที่จะสามารถนำมาใช้สนับสนุนกิจการของตนให้บรรลุผลสำเร็จได้ ซึ่งในการนี้ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่องด้วยกัน คือแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ที่จะจัดหาเงินทุนมาได้นั้น มีกี่แหล่ง อะไรบ้าง แหล่งเงินทุนที่เหมาะสมที่สุด และตรงกับความต้องการและแผนงานของธุรกิจที่ ท่านทำอยู่ ควรจะเป็นแหล่งเงินทุนใด
3.1 ขนาดของเงินทุนที่ต้องการ
ก่อนที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กจะทราบถึงประเภทของแหล่งเงินทุนที่จะได้มา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบถึงขนาดของเงินทุนที่ต้องการว่ามีจำนวนมากน้อยขนาดใดจึงจะเพียงพอ ต้องใช้เวลาในการจัดหานานเท่าใดและจะต้องผูกพันเอาไว้ใช้เป็นเวลานานเพียงใด รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายด้วยว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด
ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กส่วนมากมักจะเข้าใจผิดว่า เพียงแต่มีเงินมาเช่าร้าน ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ และซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบให้พอเพียงสำหรับการเริ่มต้นได้ในครั้งแรกแล้ว จากนั้นทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องความต้องการด้านเงินทุนใด ๆ อีก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรายการค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการที่จำเป็นต้องได้เงินทุนสนับสนุน ซึ่งแม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นทันทีทุกรายการก็ตาม แต่เป็นภาระที่จะเกิดขึ้นมากกว่าที่คิดไว้เดิม และมักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรืออาจถูกมองข้ามไป ดังนั้น หากเรื่องนี้เป็นจริงและธุรกิจยังไม่อาจทำกำไรได้ในระยะแรก ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังเพื่อพยุงให้กิจการดำเนินต่อไปได้ โดยไม่เกิดปัญหากระทบต่อฐานะส่วนตัวของเจ้าของกิจการแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กควรจะต้องมีวิธีการวิเคราะห์และเตรียมการเกี่ยวกับเงินทุนให้รอบคอบ ดังเช่นแบบฟอร์มซึ่งช่วยในการคาดคะเนจำนวนและชนิดของเงินทุนที่ต้องการสำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นครั้งแรก ซึ่งส่วนมากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กต่างต้องใช้จ่ายเงินติดต่อกันไปยาวนานหลายเดือน และในช่วงดังกล่าวนี้เอง กิจการส่วนมากที่เริ่มต้นดำเนินกิจการต่างก็ต้องมีความจำเป็นต้องใช้เงินสด เพื่อใช้จ่ายในรายการต่าง ๆ มากกว่ารายได้ที่ได้รับมาจากการขายเสมอ หากเจ้าของกิจการได้ใช้วิธีการกู้ยืมเงินมา เพื่อใช้เริ่มประกอบการธุรกิจด้วยแล้ว ภาระการต้องจ่ายคืนทั้งในรูปของเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่กู้ยืมมาก็ยิ่งจะมีปัญหาที่ต้องคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบยิ่งขึ้น เพราะมีบ่อยครั้งทีเดียวที่แม้ธุรกิจการค้าของธุรกิจขนาดเล็กจะขายได้และทำกำไรดี แต่ถ้าภาระการจ่ายคืนเงินกู้รายเดือนมีเป็นจำนวนมากแล้ว กำไรซึ่งควรจะพอเพียงที่จะเก็บไว้ใช้ดำเนินกิจการและขยายงานไปอย่างช้า ๆ ก็จะถูกดูดออกไป เพื่อจ่ายชำระหนี้เงินกู้เป็นจำนวนมาก จนในที่สุดอาจทำให้เกิดการประสบปัญหาจนต้องเลิกไปในที่สุด



โดย : นาง วิภา สรีมากรณ์, นารีนุกูล, วันที่ 15 มกราคม 2545