ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี
ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรี ดังที่ประเทศไทยและประเทศโลกเสรีส่วนใหญ่ยึดถือยู่นั้น สาระสำคัญที่เป็นเงื่อนไขของระบบที่จะกลายเป็นสภาพแวดล้อมสำหรับการดำเนินงานของธุรกิจนั้น อาจสรุปลักษณะสำคัญได้ 2 ประการดังนี้ คือ
1. มีการยอมรับในสิทธิเสรีภาพของตัวบุคคล และ เอกชนในการที่เลือกดำเนินการใด ๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
2. เป็นระบบที่ยอมให้มีการแข่งขันกันโดยการกำกับดูแลของรัฐบาล
เงื่อนไขทั้ง 2 ประการนี้ นับว่าเป็นกลไกสำคัญสำหรับการสร้างประสิทธิภาพให้กับหน่วยงานธุรกิจ ที่จะสามารถเข้ามาตอบสนองสังคมได้ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ดีกว่า โดยที่ ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองและความเป็นธรรมด้วยเงื่อนไขประการแรก การให้สิทธิเสรีภาพกับบุคคล เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเลือกดำเนินการใด ๆ ได้ภายในขอบเขตของกฎหมายนั้น ย่อมจะเป็นการส่งเสริมให้เอกชนสามารถมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ และพร้อมที่จะเข้ามาเสนอบริการใหม่ ๆ ให้กับสังคมและประชาชนตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะการให้เสรีภาพในการที่จะแสวงหาผลตอบแทนในรูปแบบของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนี้เอง จะเป็นแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาทุ่มเทจัดทำ หรือยอมเสี่ยงภัยที่จะเข้าดำเนินกิจการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองสังคมในทุกครั้งที่เล็งเห็นโอกาสสำหรับเงื่อนไขประการที่ 2 คือ การให้มีโอกาสแข่งขันนั้นก็คือ การป้องกันมิให้มีการผูกขาด อันจะเป็นผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะขาดโอกาสเลือกใช้สินค้าและบริการที่ดี การสนับสนุนให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่ให้สามารถเข้ามาผลิตเพื่อตอบสนองสังคมอย่างพอเพียงและมีการแข่งขันเพื่อประสิทธิภาพ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันการผูกขาด หรือไม่เช่นนั้นก็จะดำเนินการโดยให้การช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมหรือรายย่อย เพื่อให้สามารถอยู่รอดและให้บริการต่อสังคมเคียงคู่กับรายใหญ่ตลอดไป หรืออาจทำหน้าที่คอยควบคุมและแยกสลายการผูกขาดที่จะตกอยู่กับผู้ผลิตเพียงรายเดียวหรือสองราย ซึ่งเป็นการปิดโอกาสที่ผู้บริโภคจะมีทางเลือกต่าง ๆ และ โอกาสที่ ผู้บริโภคจะไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะมีมากขึ้นด้วย ซึ่งมีประเด็นที่ควรทราบเพิ่มเติมดังนี้ คือสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนี้ หลักการสำคัญที่เป็น หัวใจของระบบนี้คือ การยอมรับและให้สิทธิเสรีภาพแก่ตัวบุคคล และ เอกชนที่จะครอบครอง ทรัพย์สินได้ และการให้โอกาสแก่เจ้าของทรัพย์สินที่จะเลือกทำอะไรของตนเองได้ด้วย
ภายใต้ระบบสังคมแบบประชาธิปไตยที่เลือกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนี้กฎหมายสูงสุดจริง ๆ คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งมีการให้สิทธิและเสรีภาพแก่เอกชน (ทั้งที่เป็นรายบุคคลและกลุ่มคน) ที่จะมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินเป็นของตนเองได้ (private property) เอกชนจะมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เช่น เป็นเจ้าของบ้าน ที่ดิน โรงงาน อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น หุ้นของบริษัท ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรืองค์การธุรกิจก็ตาม บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ สามารถที่จะเป็นเจ้าของอาคาร สินค้า และเครื่องจักร รถบรรทุก หรือเงินทุนเช่นเดียวกับเอกชนรายบุคคลที่สามารถเป็นเจ้าของร้าน รถยนต์ ตู้เย็น และที่ดินตลอดจนเรือกสวน ไร่นา และทรัพย์สินต่าง ๆ สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้จะเห็นได้ชัดจากการระบุไว้เป็นหลักการเสมอว่าสิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ของแต่ละบุคคลจะได้รับการป้องกันมิให้ถูกกระทบใด ๆ โดยปราศจากการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย ดังนี้ ทรัพย์สินของเอกชนจึงไม่อาจถูกยึดครองมาเป็นของสาธารณะหรือเป็นของรัฐได้ เว้นแต่จะได้มีการให้ผลตอบแทนแล้วในทางใดทางหนึ่ง เท่านั้น
ตามหลักการดังกล่าวนี้จึงมีความหมายว่า หากบุคคลใดได้จัดหาหรือซื้อสิ่งต่าง ๆ มาอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมจะได้รับการประกันสิทธิที่จะเป็นเจ้าของใช้ประโยชน์ด้วยตัวเองได้ เช่น เขาอาจจะนำไปเพาะปลูก สร้างโรงงาน สร้างบ้านหรือทำอะไรอื่นใดก็ได้ ผลผลิตที่ได้ เช่น พืชผลที่ทำได้ เครื่องจักร สินค้า บ้านเรือนหรืออาคาร ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่มีตัวตน (tangible property)ป ที่แต่ละคนจะครอบครองได้ ทรัพย์สินที่มีตัวตน จึงหมายถึง ทรัพย์สินที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้นั่นเอง
นอกจากทรัพย์สินที่มีตัวตนแล้ว เอกชนยังสามารถจัดหาหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีค่าอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ( intangible property) แต่มีคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งในตัวของมันเอง เช่น ลิขสิทธิ์ ชื่อเสียงของบริษัท ตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่าง ๆ และตราสินค้า เป็นต้น
ด้วยข้อดีจากหลักการข้างต้นนี้เอง ที่เป็นเงื่อนไขและบรรยากาศสำหรับธุรกิจภาคเอกชน ที่จะมีบทบาทเป็นหน่วยผลิตที่สำคัญและทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ กล่าวคือ ด้วยการอนุญาตให้นักธุรกิจมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินนั่นเอง ที่อำนวยให้นักธุรกิจสามรรถจัดหาทรัพยากรต่าง ๆ มารวมประกอบหรือทำการแปรสภาพ (เป็นตัวสินค้าที่มีคุณค่าและมีอรรถประโยชน์ที่จะใช้อุปโภคและบริโภคได้) แล้วนำออกขายในตลาดเพื่อรับผลกำไรเป็นรางวัลตอบแทนกลับมา ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกันสำหรับผู้บริโภคที่จะมีโอกาสจัดหาและซื้อสินค้าเพื่อนำมาถือครองใช้ประโยชน์ในฐานะเป็นเจ้าของได้
ด้วยหลักการดังกล่าวนี้เองที่อำนวยโอกาสให้ ธุรกิจเอกชน ( private enterprise ) ก่อตั้งและเกิดขึ้นมาได้ โดยมีหลักประกันที่แน่นอน และมีเสรีภาพที่จะเลือกทำประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ตนชอบ มีความถนัดและมีความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งกลไกสำคัญของแนวทางนี้ คือ การให้โอกาสแก่ทุกคนและทุกหน่วยงานที่มีความสามารถ และมีประสิทธิภาพที่จะมาเสนอบริการอันเป็นประโยชน์แก่สังคม ผลที่หวังจะได้จากวิธีนี้ คือ การได้ประสิทธิภาพจากทุกคนและจากทุก หน่วยงาน โดยสังคมจะตอบแทนให้ในรูปของผลได้หรือผลกำไรสำหรับสินค้าหรือบริการที่เอกชนแต่ละคนแต่ละแห่งสนองแก่สังคม ทั้งนี้โดยการสนับสนุนจากผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อจากใครก็ได้
ดังนี้ จุดเด่นของระบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม จึงมีลักษณะที่มุ่งจะจูงใจทุกฝ่ายทั้งที่เป็นตัวบุคคลและหน่วยงานธุรกิจ ให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงสุดตามความสามารถที่แสดงผลออกมาเป็นประสิทธิภาพ หรือความสามารถในการมีส่วนช่วยในการผลิต ธุรกิจใดมีความสามารถที่จะทำประโยชน์หรือให้บริการแก่คนทั่วไปปได้ดีก็จะขายสินค้าได้ง่าย ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าที่พอใจซื้อและได้รับผลตอบแทนสูงเช่นกันกับตัวบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ก็จะได้รับผลตอบแทนสูงที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้นตามความสามารถที่ตนได้อุทิศให้ในการผลิต กำไรหรือผลได้ในรูปต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญสำหรับประสิทธิภาพของ ระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวมที่ธุรกิจเอกชนจะเป็นหน่วยผลิตที่สำคัญ และรายได้หรือผลตอบแทนที่คนงานจะได้รับ ก็จะเป็นสิ่งจูงใจที่ท้าทายกับความสามารถของคนที่จะอุทิศให้แก่งานที่ทำมากขึ้น
|