ตา-หู- กว้าง ทำอย่างไร


เนื่องจากประสาทสัมผัสทางตาและหูมีขอบเขตจำกัด จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยเพื่อทำให้มองเห็นวัตถุและได้ยินเสียงที่ค่อยได้มากขึ้น เครื่องมือดังกล่าวมีดังนี้

แว่นขยาย
เป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายขอบเขตจำกัดทางตา ใช้สำหรับส่องดูสิ่งที่มีขนาดเล็ก เช่น ยุง มด ปลวก หรือดูลวดลายต่าง ๆ
แว่นขยาย ประกอบด้วยเลนส์นูน เป็นวัสดุโปร่งใส ผิวโค้งนูนตอนกลางขอบเลนส์จะบางกว่า มีด้ามจับเพื่อความสะดวกในการใช้ เมื่อนำไปรับแสงอาทิตย์แสงจะผ่านเลนส์และลู่ไปตัดกัน มองเห็นเป็นจุดสว่าง เรียกว่า จุดโฟกัส

กล้องจุลทรรศน์
เป็นเครื่องมือที่ใช้ดูวัตถุหรือสิ่งที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และอยู่ในระยะใกล้ ๆ เช่น ดูเซลจากสิ่งมีชีวิต, เชื้อโรค, จุลินทรีย์ต่าง ๆ

กล้องส่องทางไกล
เป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายขอบเขตประสาทสัมผัสทางตาเพื่อให้สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ไม่ไกลจนเกินไปนัก เช่น ดูกีฬา ส่องดูสัตว์ในธรรมชาติ เป็นต้น

กล้องโทรทรรศน์
ช่วยในการมองวัตถุที่อยู่ไกลจากตัวเรามาก ๆ ให้เห็นชัดเจนได้และมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ดูดาวบนท้องฟ้า ซึ่งกล้องพวกนี้มักใช้อยู่ในหมู่นักดาราศาสตร์

แว่นสายตา
ใช้สำหรับคนสายตาสั้นและสายตายาว ทำให้สามารถมองเห็นวัตถุได้ชัดเจนเช่นเดียวกับคนสายตาปกติ คนที่มองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ ๆ ชัดเจน และแต่ระยะไกลมองเห็นไม่ชัดเจนเรียกว่า คนสายตาสั้น ต้องใช้แว่นตาที่ทำด้วย เลนส์เว้า ส่วนคนที่มองเห็นวัตถุในระยะไกลชัดเจนแต่ระยะใกล้กลับเห็นไม่ชัดเจนเรียกว่า คนสายตายาว ต้องใช้แว่นตาที่ทำด้วย เลนส์นูน สำหรับคนตาบอดต้องใช้ประสาทสัมผัสทางกายแทนประสาทสัมผัสทางตา โดยใช้ปลายนิ้วมือคลำตัวอักษรนูนที่เรียกว่า "อักษรเบลล์" เพื่อที่จะสื่อความหมายแทนตา

เครื่องมือช่วยในการได้ยิน
การฟังเสียงที่ค่อยมากแม้จะเข้าใกล้ก็อาจไม่ได้ยินเสียง เช่น การเต้นของหัวใจ จึงได้มีการสร้างเครื่องมือช่วยขยายขอบเขตประสาทสัมผัสทางหูขึ้นเครื่องมือนี้เรียกว่า สเต็ทโทสโคป หรือ หูฟัง ซึ่งแพทย์ใช้ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ
ปัจจุบันมีเครื่องมือขยายขอบเขตประสาทสัมผัสทางหูที่เรียกว่า เครื่องช่วยฟังเสียง แพทย์จะใช้เครื่องมือนี้เป็นอุปกรณ์ช่วยขยายเสียงพูดให้ดังขึ้น ใช้สำหรับคนหูตึง ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถพกใส่กระเป๋าแล้วมีสายต่อไปยังหู ช่วยทำให้คนหูตึงฟังเสียงได้เหมือนคนปกติ




โดย : นาง กมลทิน พรมประไพ, ร.ร.อุตรดิตถ์ดรุณี, วันที่ 10 มิถุนายน 2545