ปลาบึก


ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับสมญานามว่า เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำโขง เพราะมีถิ่นอาศัยแหล่งเดียว ณ ที่นั้น ชาวไทยและชาวลาวรู้จักปลาชนิดนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ในชื่อ “บึก”
คำว่า “บึก” เพี้ยนมาจากคำว่า “หึก” ซึ่งเป็นคำในภาษาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสองฝั่งโขง ได้แก่ ไทยเหนือ ไทยอีสาน และลาว หมายถึง ใหญ่ ดังนั้นจึงเรียกปลาที่มีขนาดมหึมาชนิดนี้ว่า “ปลาหึก” นาน ๆ ไปเสียงเพี้ยนกลายเป็น “ปลาบึก” จนทุกวันนี้
ชาวตะวันตกเรียกปลาชนิดนี้ว่า huge fish หรือ Mekong giant catfish ชาวเขมรเรียก “เตร-เร-อัค”



ปลาบึก เป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือที่เรียกกันว่า ปลาหนัง ลำตัวยาว ด้านข้างแบน หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ตามีขนาดเล็กและอยู่ในระดับเดียวกับมุมปาก มีหนวดสั้นมากอยู่ 2 คู่ ปากเล็ก ปลาวัยอ่อนจะมีฟันอยู่บนขากรรไกร เมื่อปลาเจริญวัยฟันจะหลุดหายไป ลำตัวมีสีเทาปนดำ บริเวณหลัง ด้านท้องใต้แนวเส้นข้างตัวเป็นสีเหลือง ส่วนล่างสุดจะมีสีขาวเงิน ขนาดใหญ่สุดมีความยาว 2.5 เมตร แต่มีรายงานบางแห่งบันทึกไว้ว่ายาวถึง 3.0 เมตร มักชอบอาศัยในน้ำลึก อุณหภูมิประมาณ 24 – 26 องศาเซลเซียส ที่มีน้ำไหลตลอด โดยกินสาหน่ายเป็นหลัก แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่อจะกินไม่เลือก คนจีนเรียกชื่อปลาบึกว่า ปลาขงเบ้ง เชื่อว่ากินแล้วจะฉลาดเหมือนขงเบ้ง เนื้อปลามีรสดี และราคาแพงมาก
มีตำนานเล่าขานสืบต่อมาเป็นเวลาร้อยปี ชาวเขมร และลาว เชื่อกันว่า ปลาบึกตัวเมียอาศัยอยู่เฉพาะในทะเลสาบเขมรเท่านั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเดินทางขึ้นไปตามลำน้ำโขง ผ่านประเทศลาว ไทย พม่า ขึ้นถึงทะเลสาบตาลีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผสมกับตัวผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลสาบดังกล่าว โดยปลาบึกตัวผู้มีลักษณะพิสดารกว่าตัวเมีย คือจะมีเกล็ดสีทอง




โดย : นาย ธนนท์ สุทธิกุล, ร.ร.ภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544