ผักกาดหอมเป็นผักชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยมานานปี แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศบ้านเราร้อน แม่บ้านที่อยู่ภาคกลางจึงคุ้นเคยกับผักกาดหอมที่เป็นชนิดใบ เดิมนิยมปลูกพันธุ์ใบเรียบ ต่อมาก็มีพันธุ์ใบหยัก คือ ขอบใบหยักและพริ้วเป็นพวงมีสีเขียวเข้มกว่าพันธุ์แรก ในปัจจุบันก็เริ่มมีผักกาดหอมที่ใบห่อเป็นหัวที่เรียกว่า ผักกาดหอมห่อบ้าง ผักกาดแก้วบ้าง และยังมีพันธุ์อื่น ๆ อีกหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ใหม่ ๆ เหล่านี้ ชอบอาหารหนาวเย็น จึงปลูกได้ดีในภาคเหนือ แม่บ้านชาวเหนือจึงมีโอกาสดีกว่า สามารถซื้อหาหรือปลูกผักกาดหอม พันธุ์ใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ในหนังสือ Woman's Day Encyclopedia of Cookery กล่าวไว้ว่า.......
ผักกาดหอมนั้นมีนับเป็นพัน ๆ พันธุ์ เดิมทีเดียวก็ขึ้นเป็นวัชพืชตามริมทางหรือตามที่รกร้างทั่วไปในยุโรปตอนใต้ และเอเซียตะวันตก ต่อมาก็นำมาใช้บริโภคเป็นผัก ซึ่งจัดว่าเป็นผักโบราณทีเดียว เพราะชาวกรีกโบราณก็กินผักกาดหอมกันมาแล้ว ประมาณว่า ก่อนคริสศตวรรษประมาณ 300 ปี ชาวอาหรับจัดว่าเป็นนักกินผักกาดหอมที่ยิ่งใหญ่จนตราบเท่าทุกวันนี้ และในศตวรรษที่ 20 นี้ ชาวไทยก็เาริ่มคุ้นเคยกับผักกาดหอมมากยิ่งขึ้น
โครงการพระราชดำริ คือ โครงการเกษตรที่สูง ได้ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกผัก ผลไม้ และพืชเมืองหนาวอื่น ๆ แทนการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น ผักกาดหอมบางพันธุ์ที่เจริญงอกงามได้ดีบนที่สูงก็ได้รับการส่งเสริมด้วย ดังนั้นแม่บ้านในกรุงเทพฯ คงเคยเห็นผักกาดหอมห่อ หรือผักกาดแก้ว หรือผักสลัดแก้ว ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกะหล่ำปลี แต่แลดูกาบใบใสกว่าและสีอ่อนกว่า บรรจุอยู่ในถุงติดตรา "ดอยคำ" วางขายอยู่ทั่ว ๆ ไป หลาย ๆ คนยังไม่เคยลองชิม จึงใคร่ขอเชิญชวนให้พวกเราแม่บ้านที่รักช่วยกันอุดหนุนสินค้าดอยคำเหล่านี้ แล้วท่าจะติดใจในรสชาติ นอกจากจะมีอาหารสดเพิ่มในรายการอาหารประจำวันของครอบครัวของเรา ช่วยทำให้สมาชิกของครอบครัวมีสุขภาพที่ดี การช่วยอุดหนุนผัก "ดอยคำ" ยังเป็นการช่วยประเทศชาติทางหนึ่งด้วย
ผักกาดหอมหรือหลาย ๆ คนเรียกว่า ผักสลัด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เลททัส (lettuce) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca Sativa ปัจจุบันจัดเป็นผักที่ปลูกไว้สำหรับทำเป็นผักสลัด ใน Encyclopaedia Britannica แยกลักษณะของผักกาดหอมออกตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์ได้เป็น 4 ่ชนิด คือ
1. Asparagus หรือ Stem lettuce
ชนิดนี้มีใชบแคบยาว ลำต้นอวบและอิ่มน้ำ ใช้ต้นเป็นอาหารได้ มีกลิ่นแปลกกว่าชนิดอื่น ๆ คือ มีกลิ่นรสก้ำกึ่งกันระหว่างเซลเลอรี่ (celery) กับผักกาดหอม (lettuce) ฉะนั้น เขาจึงเรียกอีกชื่อว่า เซลทัส (celtuce)
2. Head หรือ Cabbage lettuce
ชนิดนี้ใบอ่อนจะงองุ้มซ้อนกันเป็นหัวแน่นเหมือนกะหล่ำปลี ใบหนาและกรอบกว่าชนิดอื่น ๆ ผักกาดหอม "ดอยคำ" ก็คือชนิดนี้ บางทีก็เรียกว่าผักสลัดแก้ว หรือผักกาดแก้ว
3. Leaf lettuce
ชนิดนี้เราใช้กันมากและรู้จักมานานมีทั้งชนิดใใบเรียบและใบหยิกงอ ชนิดใบหยิกสีจะเข้มกว่าใบเรียบ ลักษณะของใบกรอบนุ่ม คนไทยนิยมกินกับสาคูไส้หมูกันมาก
4. Cos หรือ Romaine lettuce
ชนิดนี้ใบแข็งและจะห่อรวมกันเป็นปลียาวหลวม ๆ ใบนอกสีเขียวเข้ม ใบที่อยู่ในปลีจะขาวอมเขียว
|