ความรู้เกี่ยวกับคำว่าท้องถิ่น |
|
ความหมายของท้องถิ่น
คำว่า ท้องถิ่น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น อาจจะมีความหมายกว้างหรือแคบก็ได้ ท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่นั้น จะมีที่ตั้งอาณาเขตและขนาดการปกครองที่เรียกว่า หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด หากเราจะบอกว่าเราเป็นคนท้องถิ่นใด อาจจะได้จากการตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือภาคใด เช่น นายทวีศักดิ์ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 25 ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ดังนั้นท้องถิ่นของนายทวีศักดิ์ ก็คือ ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ลักษณะของสังคมในท้องถิ่น
ในแต่ละท้องถิ่นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วยครอบครัวหลายๆ ครอบครัวมากน้อยแตกต่างกันไป มีลักษณะการดำเนินชีวิต และขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ดังนั้นลักษณะสังคมในแต่ละท้องถิ่น ย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. สังคมชนบท
2. สังคมเมือง
สังคมชนบท ได้แก่ ชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่น้อยหรือเบาบาง มีลักษณะรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ
โครงสร้างของสังคมชนบท มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีลักษณะการตั้งถิ่นฐาน อยู่อย่างกระจัดกระจาย มีอัตราความหนาแน่นต่ำ
ครอบครัวส่วนมากเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม
2. การศึกษา ประชากรในชนบทโดยทั่วไปมีการศึกษาค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เป็น
การศึกษาภาคบังคับ
3. เศรษฐกิจ สังคมชนบทส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม มีอาชีพการทำนา
ทำสวน ทำไร่ ประมงและการหาของป่า มีลักษณะพึ่งตนเองได้
4. การเมืองการปกครอง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย เพราะมีความรู้สึก
ว่าเรื่องราวทางการเมืองไม่มีความเกี่ยวข้องกับตนเอง
5. วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
มีความศรัทธาในศาสนาสูง เคร่งครัดในระเบียบประเพณี
สังคมเมือง ได้แก่ ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่มาก หรือหนาแน่น
โครงสร้างของสังคมเมือง มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีลักษณะการตั้งถิ่นฐาน อยู่อย่างหนาแน่น มีอัตราความหนาแน่นสูง ลักษณะ
ครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดียว เป็นครอบครัวขนาดเล็ก
2. การศึกษา สังคมเมืองเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา มีสถานศึกษาในทุกระดับชั้นทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้ประชากรในเขตเมืองมีระดับการศึกษาสูง
3. เศรษฐกิจ ชาวเมืองส่วนใหญ่มีรายได้และรายจ่ายสูง มีอาชีพต่างๆ ส่วนใหญ
เป็นการค้า อุตสาหกรรมและบริการต่างๆ
4. การเมืองการปกครอง สังคมเมืองเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองของ
ประเทศ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมาก
5. วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ตามกระแสการ
เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ความศรัทธาในศาสนาและความเคร่งครัดในระเบียบประเพณีไม่สูงนัก เพราะสังคมเมืองมีความเจริญทางด้านวัตถุและวิชาการตามหลักความมีเหตุผลและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาก
ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท
ไม่ว่าประชากรจะอยู่ในสังคมเมืองหรือสังคมชนบทก็ตาม สังคมทั้งสองก็ย่อมที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น สังคมเมืองย่อมได้รับผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมจากสังคมชนบท เพื่อการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม แลได้แรงงาน หรือทรัพยากรธรรมชาติ จากสังคมชนบท
ส่วนสังคมชนบทก็ต้องพึ่งพาสังคมเมือง ในด้านการตลาดเพื่อขายสินค้าและพืชผลทางการเกษตร ได้รับความรู้และวิทยาการสมัยใหม่จากสังคมเมือง ได้รับเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น พัดลม ตู้เย็น เครื่องทุ่นแรงต่างๆ ตลอดจนยวดยานพาหนะ
|
โดย : นาง สุวลักษณ์ รัตคธา, ทุ่งกะโล่วิทยา, วันที่ 21 พฤษภาคม 2545
|