ประวัติการถ่ายรูปในประเทศไทย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พ. ศ. 2408 จอห์น ทอมสัน หรือ เจ. ทอมสัน ชาวอังกฤษ ได้นำกล้องถ่ายภาพซึ่งขณะนั้นใช้กระบวนการเวทเพลทเข้ามาถ่ายภาพในซีกโลกตะวันออก เขาได้บันทึกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย รวมถึงภาพพระราชพิธีโสกันต์รัชกาลที่ 5 ด้วย ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ในปี พ. ศ. 2450 ได้ถวายรูปนี้แก่พระองค์ด้วย
ในหนังสือสยามประเทศ ซึ่งเป็นหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน พ. ศ. 2444 กล่าวว่า พระยาไทรบุรี ได้ส่งรูปสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งกรุงชาวอังกฤษมาทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ 3 แต่รัชกาลที่ 3 ไม่ทรงเชื่อว่าเป็นรูปถ่าย ภายหลังรูปนี้นำไปติดไว้ที่ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านทิศตะวันตก สมัยนั้นคนไทยเรียกว่า " รูปเจ้า วิลาด " แต่ต่อมาถูกปลดออกไปติดที่อื่น เมื่อ เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษจะเข้ามาทำสัญญาทรงพระราชไมตรีกับไทย ในปี พ. ศ. 2398 ซึ่งนับเป็นรูปถ่ายรูปแรกในเมืองไทย
ส่วนผู้ที่ถ่ายรูปในเมืองไทยเป็นคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สังฆราช ปาเลอกัว ชาวฝรั่งเศส เคยอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ ภายหลังย้ายไปครองวัด คอนเซ็บชัญ ใกล้ๆ วัดราชาธิวาส ซึ่งรัชกาลที่ 4 ผนวชอยู่ จึงเป็นที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน สังฆราชปาเลอกัวนี้อยู่เมืองไทยนานถึง 30 ปี ภายหลังจึงพิมพ์หนังสือพจนานุกรมเล่มใหญ่ 4 ภาษา ซี่งเป็นภาษาอังกฤษ ไทย ฝรั่งเศส และลาติน กล่าวกันว่า สังฆราชปาเลอกัว มีประดิษฐกรรมตระกูลเดียวกับกล้องถ่ายรูปที่เรียกว่า " ถ้ำมอง " ซึ่งใช้เป็นกลยุทธในการเผยแพร่ศาสนา เพราะไปที่ใดก็จะชักชวนผู้คนให้มาเข้าวัด โดยการเอา " ถ้ำมอง " นี้ ไปล่อให้คนมามุงดูรูปใน " ถ้ำมอง " ที่เชื่อว่า สังฆราชปาเลอกัว จะเป็นผู้ถ่ายรูปในเมืองไทยคนแรกนั้น เพราะเมื่อกลับไปฝรั่งเศสแล้ว สังฆราชปาเลอกัวยังได้พิมพ์หนังสือในฝรั่งเศสเรื่อง เล่าเรื่องเมืองสยาม พ. ศ. 2397 ในหนังสือเล่มนี้มีภาพลายเส้นของเมืองไทยถึง 20 ภาพ ซึ่งเชื่อได้ว่าวาดจากต้นฉบับ เพราะเหมือนกับภาพจริงมาก
สำหรับชาวไทยที่ถ่ายรูปในเมืองไทยเป็นคนแรก คือ พระยากระสาปน์ กิจโกศล หรือนายโหมด ต้นตระกูลอมาตยกุล พระยากระสาปน์ กิจโกศลนี้ บรรดาศักดิ์ก่อนหน้าคือ
พระวิสูตรโยธามาตย์ มีบทความบทหนึ่งในหนังสือชื่อ Philadephia Photographer ที่ตีพิมพ์ ในปี พ. ศ. 2408 ซึ่งเอนก นาวิกมูล ได้รับจากสถาบันโซเนียน เมื่อปี พ. ศ 2526 กล่าวว่า เมื่อพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษ ส่งอุปกรณ์รูปถ่ายครบชุดมาถวายรัชกาลที่ 4 พระวิสูตรโยธามาตย์ ผู้นี้ก็สามารถถ่ายรูปโดยใช้กล้องถ่ายรูปนี้ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ไม่รู้จักภาษาอังกฤษเลย และพระวิสูตรยังได้ฝากรูปถ่ายของเมืองไทยไปกับพวกมิชชันนารี ให้หมอเฮาส์ ในอเมริกาดู บทความนี้ยังได้วิจารณ์ถึงความสามารถของคนไทยที่อยู่ในดินแดนที่ห่างไกล แต่ก็ยังถ่ายรูปได้อย่าง
ควรพอใจยิ่ง
จริงๆ แล้วช่างถ่ายรูปในเมืองไทยที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมิใช่มีแต่พระยากระสาปน์กิจโกศล เท่านั้น บุคคลอื่นๆ เช่น พระปรีชากลการ หรือนายสำอาง อมาตยกุล ลูกชายของพระยากระสาปน์ กิจโกศล หลวงอัคนีนฤมิตร หรือนายจิตร ต้นตระกูลจิตราคนี หลวงอัคนีนฤมิตร นี้ เป็นช่างภาพหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 นับเป็นช่างถ่ายรูปอาชีพคนแรก ที่ตั้งร้านถ่ายรูปในประเทศไทยเมื่อปี พ. ศ. 2406 อยู่ที่แพวัดซางตาครูซ รูปถ่ายที่นายจิตร หรือหลวงอัคนีนฤมิตร ถ่ายมีทั้งภาพบุคคล ภาพสถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ภาพถ่ายที่ถ่ายจากร้านของท่านจะมีตราร้านอยู่ด้วย
ช่างภาพรุ่นแรกในเมืองไทยอีกท่านหนึ่ง คือ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอของรัชกาลที่ 4 เป็นต้นตระกูล นิลรัตน์ จอห์น ทอมสัน ชาวอังกฤษ ที่ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยได้บันทึกไว้ว่า ทรงเป็นผู้มีความใจดีในงานถ่ายรูป
จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดมีร้านถ่ายรูปขึ้นหลายแห่ง ทั้งรัชกาลที่ 5 เองก็ทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปอยู่มาก ทรงซื้อกล้องถ่ายรูปหลายชุด และยังมีกล้องถ่ายรูปติดพระหัตถ์เมื่อเสด็จประพาสที่ต่างๆ เสมอ ทั้งยังจัดให้มีการอวดรูป และประชันรูปขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย ในปี พ. ศ. 2447 ในงานไหว้พระพุทธชินราช ณ วัดเบญจมบพิตร รูปที่รับเข้าแสดงมีทั้งรูปที่อัดลงกระดาษ และรูปกระจกที่จะต้องใส่ถ้ำมอง ที่เรียกว่า ตักสิโฟเต ( Taxiphote ) จนเมื่อเทคโนโลยีทางด้านการถ่ายรูปพัฒนามากขึ้น การถ่ายรูปในประเทศไทยก็เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นเช่นในปัจจุบัน
|