ปลากัด

ปลากัด ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens และมีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงเป็นเวลานานแล้ว ทั้งนี้เพื่อไว้ดูเล่นและเพื่อกีฬากัดปลาและเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศมานานเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย จึงเหมาะสมสำหรับผู้ที่หัดเริ่มเลี้ยงปลา ต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่มากนัก และไม่จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยมากเนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษที่เรียกว่า labyrinth โดยทำให้สามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้ ในธรรมชาติแล้วพบได้ทั่วไปในน้ำที่นิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ นอกจากนั้นพบในนาข้าว และกระจายทั่วไปในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลากัดเลี้ยงมีอายุเฉลี่ย 2 ปีหรือน้อยกว่า
ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัว ครีบ และหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ได้ปลากัดที่มีสีสวยงามหลายสี อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั่งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง ฯลฯ
ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเรียกกันว่า "กัดป่า หรือ กัดทุ่ง" โดยมีลำตัวค่อนข้างเล็กบอบบาง สีน้ำตาลขุ่น หรือเทาแกมเขียว มีการนำมาเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่มีรูปร่าง แข็งแรง ลำตัวหนาและใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในกีฬากัดปลาซึ่งนิยมเรียกปลากัดชนิดนี้ว่า "กัดเก่ง" นอกจากนั้นปลากัดไทยนี้ยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้มีสีสันสวยสด มีผู้เลี้ยงปลากัดหลายรายได้มีการพัฒนาปลากัดที่ได้จากการคัดพันธุ์และผสมข้ามพันธุ์ปลากัด โดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย ซึ่งนิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่าปลากัดจีน หรือ ปลากัดเขมร ซึ่งต่างประเทศรู้จัดปลากัดในนาม Siamese fighting fish
ในปัจจุบัน การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกำลังเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันนี้ ปลากัดมีสีสรรสวยงามมากตั้งแต่ สีเหลืองทั้งตัว สีฟ้า Half moon มีเรื่องอ้างอิงกันมาถึงการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด โดยใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ ด้วยมีความเชื่อว่า ปลาที่มีสีสรรสวยงามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดความรู้สึกของเพศเมีย ไปยังลูกปลา ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในบรรดานักเพาะปลาทั้งหลายโดยการวาดรูปปลากัดที่มีสีสรรตามที่ต้องการ เช่น สีเหลืองทั้งตัว ตั้งวางโดยรอบปลาเพศเมียในระหว่างที่ทำการเทียบคู่นั้น วิธีการนี้เรียกว่า Pseudo-breeding technique ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ออกมาทางวิชาการแต่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเพาะเลี้ยงทั้งหลายว่า พบว่าคอกหนึ่ง ๆ ที่ได้ลูกปลาออกมานั้นจะมี 1 - 2 ตัวที่มีลักษณะเหมือนกับภาพที่วาดไว้


สีสรรความงามของปลากัดสามารถแบ่งออกเป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้
สีเดียว (Solid Colored Betta) เป็นสีเดียวทั้งครีบและตัว
สีผสม (Bi-colored Betta) ส่วนใหญ่จะมี 2 สีผสมกัน
สีผสมเขมร (Cambodia Colored Betta)
ลายผีเสื้อ (Butterfly Colored Betta)
ลายผีเสื้อเขมร (Combodian Butterfly Colored Betta)
ลายหินอ่อน (Marble Colored Betta)
รูปแบบของปลากัดไทยยังมีการแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
รูปทรงปลาช่อน มีลำตัวยาวและหัวเหมือนปลาช่อน หัวใหญ่กว่าท้องเมื่อมองจากด้านบน รูปร่างเพรียว
รูปแบบปลาหมอ ตัวจะสั้นและค่อนข้างอ้วน รูปทรงค่อนข้างกว้าง
รูปแบบปลากราย หน้าเชิด ลำตัวตรง รูปทรงค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม มองด้านบนจะเห็นว่ารูปทรงผอมบาง มีครีบอกและครีบก้นยาว
รูปแบบปลาตะเพียน เป็นลูกผสมลำตัวป้อม ครีบยาวสวยงาม
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด
เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้เมื่ออายุประมาณ 1 1/2 - 2 เดือน การเลี้ยงปลาจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัว ก่อนที่ปลามีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดที่ควรนำมาใช้เลี้ยงปลากัด ได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดแบนบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศ จะสังเกตุเห็นว่า ปลาเพศผู้จะมีลำตัวสีเข้ม ครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจน และ ขนาดมักจะโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียจะมีสีซีดจาง มีลายพาดตามยาวลำตัว 2 - 3 แถบ และ มักจะมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้
น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6.5 - 7.5 มีความกระด้าง 75 - 100 มิลลิกรัม ต่อ ลิตร และ มีความเป็นด่าง 150 - 200 มิลลิกรัม ต่อ ลิตร ควรบรรจุน้ำลงในขวดเพียง 3/4 ขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสกับผิวน้ำนอกจากนั้นสถานที่เลี้ยงปลากัดไม่ควรที่จะเป็นที่โดนแสงแดดโดยตรง จะทำให้ปลาตายได้ในกรณีที่โดนความร้อนมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมควรจะเป็น 25 - 28 องศาเซลเซียส


อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา
ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีชีวิตเป็นอาหาร สำหรับลูกปลาวัยอ่อนนิยมที่จะให้ไรแดงกรอง สำหรับอาหารที่เหมาะสมจะใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล (Artemia) ที่มีชีวิต อาหารที่มีชีวิตที่ใช้เลี้ยงทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น 500 - 1000 ส่วนในล้านส่วน (0.5 - 1.0 กรัม / ลิตร) เป็นเวลา 10 - 20 วินาที เพื่อฆ่าเชื่อโรคที่ติดมากับอาหารหลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง
อาหารของปลากัดนอกจากใช้อาหารมีชีวิตแล้ว สามารถฝึกหัดให้ปลากินอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วย โดยค่อย ๆ ฝึกเปลี่ยนนิสัยในการกินอาหาร การให้อาหารควรให้วันละ 1 - 2 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดีปลากินอิ่ม การให้อาหารมากเกินไปอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องน้ำให้มาก ข้อสังเกตการกินอาหารโดยปกติปลากัดกินอาหารประมาณ 5 นาที ในกรณีที่แยกขวดเลี้ยงปลากัดเป็นขวดละตัวแล้ว การให้อาหารนิยมที่จะใช้ลูกยางสีแดงที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปดูดอาหารและใส่ทีละขวด จะทำให้สะดวกยิ่งขึ้น การถ่ายเทน้ำควรกระทำสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ปลากัด คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน ในปัจจุบันสามารถที่จะผสมพันธุ์ปลาได้ตลอดปี โดยอุณหภูมิน้ำควรอยู่ระหว่าง 26 - 28 องศาเซลเซียส ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5 - 6 เดือนขึ้นไป ปลาเพศผู้นิยมคัดเลือกปลาที่มีอายุ 5 - 6 เดือน ในขณะที่เพศเมียเป็นปลาที่มีอายุ 4 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันการกัดกันในระหว่างที่ปล่อยผสมลงในขวดเดียวกัน ถ้าเลือกปลาเพศเมียที่แข็งแรงกว่าปลาเพศผู้อาจจะมีปัญหาโดนปลาเพศเมียกัดตายได้ โดยปลาจะวางไข่ครั้งละประมาณ 500 - 1,000 ฟอง ในฤดูผสมพันธุ์จะสังเกตเห็นความสมบูรณ์เพศของปลาได้ชัดเจน ในการคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์มีหลักทีควรปฏิบัติดังนี้
ปลาเพศผู้ คัดปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวยตามที่ต้องการ ชอบสร้างรังซึ่งเรียกว่า "หวอด" โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปากและลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่าปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์
ปลาเพศเมีย โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก มีสีเทา และ มีลายตามแนวราบ มีครีบสั้น ควรคัดเลือกแม่ปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่งและบริเวณใต้ท้องจะมีตุ่มสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจนแสดงว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งตุ่มสีขาวนี้เรียกกันว่า "ไข่นำ"


วิธีการเพาะพันธุ์
นำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียมาวางติดกัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า "เทียบคู่" ซึ่งควร จะเป็นบริเวณที่ปราศจากสิ่งรบกวน จะทำให้ปลาตกใจ ใช้เวลาเทียบคู่ประมาณ 3 - 10 วัน จากนั้นนำปลาเพศผู้และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว จนถึงอ่างดิน ใส่น้ำให้มีระดับ 5 เซนติเมตร เพื่อมิให้เพศผู้เหนื่อยมากเกินไปในขณะที่ลำเลียงไข่ของเพศเมียไปไว้ที่รัง ซึ่งจะทำให้ไข่เสียหายน้อย แล้วใส่พันธุ์ไม้น้ำที่แช่ด่างทับทิมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งชนิดพันธุ์ไม้น้ำที่นิยมใช้ ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชวา เป็นต้น ควรจะมีฝาปิดภาชนะที่ผสมพันธุ์และควรอยู่ในที่สงบ เมื่อปลาเพศผู้และเพศเมียสามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพในภาชนะ (ประมาณ 1 - 2 วัน) ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับพันธุ์ไม้น้ำ หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้จะพองตัวกางครีบ ไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้จะรัดตัวเมียตรงบริเวณอวัยวะเพศ จากนั้นไข่ก็จะหลุดออกมา พร้อมกับตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้จะตามลงไปใช้ปากดูดไข่อมไว้ ว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟองอากาศจนกว่าจะหมด เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และ จะไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออกจากภาชนะ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่ ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกปลาเพศผู้ออกต้องระวังการกระแทกที่จะทำให้ไข่ได้รับความเสียหาย


การอนุบาลลูกปลา
ไข่ปลากัดจะฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกจะมีถุงอาหาร (Yolk sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นช่วง 3 - 4 วันแรกจึงยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมด ควรให้ไข่แดงต้มสุกกรองผ่านกระชอนตาถี่ให้อาหารวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 3 - 5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง (Moina) ต่อมาจึงเป็นเป็นไรแดงตัวเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ ประมาณ 5 สัปดาห์ลูกปลาบางตัวจะเห็นสี ช่วงนี้อาจจะเร่งการเจริญเติบโตโดยการเพิ่มการให้อาหารทีละน้อยอาจจะให้ได้ 3 - 4 ครั้ง / วัน ช่วงนี้ลูกปลาสามารถกินอาหารได้หลายชนิด เช่น หนอนแดง อาหารแผ่นบาง เคยบด ตับไก่สดแช่แข็งหั่นเป็นชิ้นเสียบไม้ใส่ไว้ในบ่อ ปลาจะมาตอดกินได้อีกทั้งยังเป็นการช่วยเร่งสีเนื่องจากมีธาตุเหล็กให้แก่ปลาอีกด้วย และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้ เมื่อปลามีอายุประมาณ 1 1/2 เดือนขึ้นไป ปลาเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์จะถูกคัดออกมาขายเพื่อเป็นปลาเหยื่อต่อไป
เนื่องจากการเลี้ยงปลากัดเป็นการเลี้ยงที่นิยมกันมานานมาก การดูแลรักษาปลาจึงเป็นแบบพื้นบ้านส่วนใหญ่ มีการหมักปลาโดยใช้ใบหูกวางแห้ง ใบมะพร้าวแห้ง หรือ ใบตองแห้ง เพื่อใช้การักษาเมื่อเห็นปลาเริ่มแสดงอาการผิดปกติ มีเกษตรกรบางรายไม่เคยประสบปัญหาโรคเลย ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงที่อยู่ในบ่อดินจะใส่ใบไม้เหล่านี้ควบคู่ไปด้วย ในบางครั้งที่พบว่าตัวมีจุดสีขาว ที่รู้จักกันว่าเป็นโรคจุดขาว หรือ อิ๊ค ก็จะใช้ข่าใส่หมักลงไปในขวดปลานั้น โรคดังกล่าวก็หายไป


เอกสารอ้างอิง : เอกสารประกอบการฝึกอบรม การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม กลุ่มฝึกอบรมเกษตรกร กองฝึกอบรม กรมประมง
ผู้เขียน : ปลากัด โดย คุณอมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล
www.eFish2u.com (อีฟิชทูยู ดอท คอม)

โดย : เด็กชาย กิตติ ปันชู, โรงเรียน ถิ่นโอภาสวิทยา ,แพร่, วันที่ 6 พฤษภาคม 2545